ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 17,345 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,823 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,833 ราย และในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 681 ราย กำลังรักษาอยู่ 192,526 ราย แนวโน้มในประเทศติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง พบในต่างจังหวัด 57% เกิดจากการเดินทางกลับภูมิลำเนา กทม.ยังติดเชื้อและเสียชีวิตสูง คลัสเตอร์โรงงานที่ติดเชื้อพบทั้งหมด 518 แห่ง ใน 49 จังหวัด เพชรบุรียอดมากสุด
วันนี้ (30 ก.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,345 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 16,664 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 681 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 578,375 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 10,678 ราย สะสม 381,389 ราย กำลังรักษาอยู่ 192,526 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 74,232 ราย และโรงพยาบาลสนาม 118,294 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 4,595 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,012 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 117 ราย รวมเสียชีวิต 4,679 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 17,345 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,823 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,833 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 681 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 8 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 117 ราย ชาย 62 ราย หญิง 55 ราย กทม. 55 ราย สมุทรปราการ 9 ราย สมุทรสาคร 8 ราย นราธิวาส 8 ราย ปทุมธานี 6 ราย นครปฐม ปัตตานี จังหวัดละ 4 ราย กาฬสินธุ์ สุโขทัย นครสวรรค์ ตาก จังหวัดละ 2 ราย สงขลา ตรัง ระนอง ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี สกลนคร กำแพงเพชร พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง พบ 8 รายไม่มีโรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อคนในครอบครัว จากคนอื่นๆ อายุค่ากลาง 67 ปี อายุน้อยสุด 33 ปี อายุมากสุด 92 ปี เป็นชาวไทย 112 ราย เมียนมา 5 ราย เสียชีวิตที่บ้าน 9 ราย กทม. 8 ราย ปทุมธานี 1 ราย
สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ ยังคงพบผู้ติดเชื้อลักลอบเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ มาเลเซีย 3 ราย
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 30 ก.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 3,231 ราย 2. สมุทรปราการ 1,386 ราย 3. สมุทรสาคร 1,186 ราย 4. ชลบุรี 914 ราย 5. นนทบุรี 587 ราย 6. ฉะเชิงเทรา 479 ราย 7. นครปฐม 378 ราย 8. อุบลราชธานี 350 ราย 9. ปทุมธานี 330 ราย 10. สงขลา 324 ราย
แนวโน้มในประเทศติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง พบในต่างจังหวัดคิดเป็น 57% กทม 43% โดยพบมากขึ้นในภูมิภาคจากการเดินทางกลับภูมิลำเนาจากพื้นที่ ระบาด เพื่อเข้ารับการรักษาใน รพ. บางจังหวัดพบการติดเชื้อในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล แนวโน้มยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์สูงคงตัว ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่ระบาด ไม่สามารถระบุแหล่งโรคได้ชัดเจน ภาคกลางและภาคตะวันออก ยังพบผู้ติดเชื้อในโรงงาน สถานประกอบการจำนวนมาก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องจากผู้เดินทางกลับ ภาคใต้และ จ. ชายแดนใต้ พบการระบาดในตลาดและชุมชนอย่างต่อเนื่อง พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานบริการ
สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ใช้ท่อช่วยหายใจ และมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ยังมีปัญหาเตียงผู้ป่วยหนัก และการส่งต่อผู้ป่วย เมื่อมีอาการหนัก ทั้ง กทม. ปริมณฑล และภูมิภาค
ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่
- สมุทรปราการ พบคลัสเตอร์ใหม่ บริษัทระบบกำลังไฟฟ้า อ.เมือง
- สมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง คือ บริษัทยางรถยนต์ อ.เมือง, โรงงานผลิตภัณฑ์ปลา อ.เมือง
- ชลบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่โรงงานเครื่องปรับอากาศ อ.เมือง
- ปทุมธานี พบคลัสเตอร์ใหม่ บริษัทยางรถยนต์ อ.คลองหลวง
- สงขลา พบคลัสเตอร์ใหม่ โรงงานแม่แบบเซรามิค อ.สะเดา
ทั้งนี้ หลายจังหวัดยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมในคลัสเตอร์เดิมอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของโรงงาน-สถานประกอบการ ระบบการผลิต เพื่อส่งออกยังคงจำเป็นต้องขับเคลื่อน โดยพบการติดเชื้อโรงงานทั้งหมด 518 แห่ง ใน 49 จังหวัด
โดย 5 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในโรงงานมากสุด คือ 1. เพชรบุรี 2. เพชรบูรณ์ 3. ประจวบคีรีขันธ์ 4. สมุทรสาคร 5. สงขลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และระบาดในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้
ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 549,512 ราย หายป่วยสะสม 353,744 ราย เสียชีวิตสะสม 4,585 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 197,365,402 ราย อาการรุนแรง 87,079 ราย รักษาหายแล้ว 178,517,335 ราย เสียชีวิต 4,214,617 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 35,584,272 ราย
2. อินเดีย จำนวน 31,571,295 ราย
3. บราซิล จำนวน 19,839,369 ราย
4. รัสเซีย จำนวน 6,218,502 ราย
5. ฝรั่งเศส จำนวน 6,079,239 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 44 จำนวน 578,375 ราย