ศบค. เผยไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 13,002 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 8,248 ราย กำลังรักษา 131,411 ราย แนวโน้มผู้ติดเชื้อในภาคอีสานเพิ่มขึ้น จากการเดินทางกลับภูมิลำเนา เตียงในต่างจังหวัดเริ่มสูงขึ้น กทม.พบป่วยใหม่ 2,921 ราย พบเกินครึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ด้านชุดเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน ตรวจไปแล้วกว่า 4 พันคน
วันนี้ (21 ก.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,002 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 11,953 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,049 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 410,614 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 8,248 ราย สะสม 304,456 ราย กำลังรักษาอยู่ 131,411 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 74,168 ราย และโรงพยาบาลสนาม 57,243 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,786 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 879 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 108 ราย รวมเสียชีวิต 3,610 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 13,002 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,012 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,910 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,049 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 31 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 108 ราย ชาย 59 ราย หญิง 49 ราย กทม. 40 ราย สมุทรสาคร 13 ราย สงขลา 7 ราย ยะลา 6 ราย นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี จังหวัดละ 4 รายสมุทรปราการ นครนายก จังหวัดละ 3 ราย นราธิวาส ปัตตานี ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 2 ราย นนทบุรี สระแก้ว ขอนแก่น อุบลราชธานี กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท พิษณุโลก สุโขทัย นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง พบ 14 รายที่ไม่มีโรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อคนในครอบครัว มากสุด อายุค่ากลาง 66 ปี อายุน้อยสุด 25 ปี อายุมากสุด 96 ปี ชาวไทย 106 ราย จีน 1 ราย อินเดีย 1 ราย เสียชีวิตที่บ้าน ขณะรอผล 1 ราย เสียชีวิตก่อนนำส่ง รพ. 2 พบติดเชื้อหลังเสียชีวิต 1 ราย
สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ ยังคงพบผู้ติดเชื้อลักลอบเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ เมียนมา 20 ราย
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 21 ก.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 2,921 ราย 2. สมุทรสาคร 932 ราย 3. นนทบุรี 661 ราย 4. สมุทรปราการ 656 ราย 5. ชลบุรี 636 ราย 6. ฉะเชิงเทรา 374 ราย 7. ปทุมธานี 350 ราย 8. ระยอง 305 ราย 9. ปัตตานี 282 ราย 10. พระนครศรีอยุธยา 235 ราย
แนวโน้มสถานการณ์โควิดส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในภาคอีสาน พบกรณีมีผู้ป่วยที่เดินทางกทม. ปริมณฑล ฯลฯ กลับภูมิลำเนา และทำให้เกิดการติดเชื้อในพื้นที่เพิ่มขึ้น เช่น นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ดังนั้นผู้ที่ตรวจพบติดเชื้อแล้ว ขอให้เข้าระบบ ไม่เดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะเตียงในต่างจังหวัดเริ่มสูงขึ้น แนวโน้มผู้ป่วยส่วนใหญ่ในขณะนี้ ไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย เป็นกลุ่มในวัยทำงาน วัยแรงงาน ผู้ป่วยในระดับสีเหลืองสีแดงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ในกทม. เกินครึ่ง เป็นผู้ป่วยติดเชื้อในสายพันธุ์เดลต้า ชุดเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน ตรวจไปแล้วกว่า 4 พันคน ซึ่งผู้ติดเชื้อ ได้นำเข้าสู่ระบบดูแลทั้ง home isolation, Community isolation รวมถึงส่งต่อ รพ. แล้ว โดยให้ผู้เสี่ยงสูง จากการพบผู้ป่วยให้กักตัวที่บ้าน จะพยายามนำผู้ป่วยเข้าระบบให้เร็วที่สุด จะมีการขยายจุดตรวจเพิ่มมากขึ้น ให้ครอบคลุมมากขึ้น ในขณะนี้เร่งเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยเพิ่ม จะมีการเน้นการเพิ่มการแยกกักตัวที่บ้าน สำหรับในกทม. ศูย์แยกกักตัวในชุมชน จะเพิ่มอย่างน้อย เขตละ 1 ศูนย์ บางเขตอาจจะได้มากว่า 1 ศูนย์ ซึ่งตั้งไปแล้ว 49 แห่ง เปิดดำเนินการ 19 แห่ง
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนมีการเพิ่มแผนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ที่ตั้งครรภ์ เกิน12 สัปดาห์ เข้ารับวัคซีน เช่นเดียวกับในกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ สำหรับชาวต่างชาติ ที่มีถิ่นพำนักในไทย ให้รอประกาศแนวทางการเข้ารับวัคซีนเพิ่มเติม ในส่วนไทยร่วมใจ ในกลุ่มผู้สูงอายุ ยังคงมีจำนวนน้อย ขอให้ลงทะเบียนเพิ่มเติม
ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่
- สมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่ โรงงานห้องเย็น อ.เมือง
- สมุทรปราการ พบคลัสเตอร์ใหม่ โรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง อ.บางเสาธง
- ระยอง พบคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง คือ บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อ.ปลวกแดง, ตลาดสิริภิบาลพัฒนา อ.แกลง
ทั้งนี้ หลายจังหวัดยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมในคลัสเตอร์เดิมอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 410,614 ราย หายป่วยสะสม 277,030 ราย เสียชีวิตสะสม 3,516 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 192,228,307 ราย อาการรุนแรง 81,822 ราย รักษาหายแล้ว 174,923,420 ราย เสียชีวิต 4,133,324 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 35,081,719 ราย
2. อินเดีย จำนวน 31,215,142 ราย
3. บราซิล จำนวน 19,419,741 ราย
4. รัสเซีย จำนวน 6,006,536 ราย
5. ฝรั่งเศส จำนวน 5,890,062 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 51 จำนวน 439,477 ราย