xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทุกขั้นตอนรอบคอบ ยึดผลประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุขแจงกลไกการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาสัญญาและเงื่อนไขต่างๆ ก่อนลงนามอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย เผย ปี 2565 เน้นจัดหาวัคซีนรุ่น 2 รองรับกลายพันธุ์ให้ได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก เร่งเจรจาโคแวกซ์ ขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแพลตฟอร์มต่างๆ

วันนี้ (21 ก.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวประเด็นการจัดหาวัคซีนโควิด-19

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหากมีข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่า ภายใต้การกำกับดูแลของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีเรื่องของทุจริต ส่วนที่ไม่สามารถเปิดเผยผลการเจรจากับบริษัทวัคซีนทุกนัด เนื่องจากมีการลงนามสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล หากเปิดเผยอาจส่งผลเสีย เช่น ถูกยกเลิกการเจรจา หรือกรณีการขอให้แอสตร้าเซนเนก้าจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นให้ประเทศไทยในช่วงที่มีการระบาด เมื่อมีข้อมูลออกไปทางยุโรปก็สั่งห้ามโรงงานไม่ให้จัดส่ง เป็นต้น

 


ทั้งนี้ กลไกการจัดหาวัคซีนมี 2 ส่วน คือ 1. กลไกตามกฎหมาย คือ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และ 2. กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีกรรมการจากผู้แทนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เลขาธิการ สปสช. ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นต้น โดยตั้งคณะทำงานเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้าและโคแวกซ์ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน

“วัคซีนไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่จัดหาโดยง่าย ตลาดยังเป็นของผู้ขาย แม้กระทั่งโครงการโคแวกซ์ยังซัปพลายวัคซีนได้ไม่มากเท่าที่วางแผนไว้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการกลายพันธุ์ สิ่งที่วางแผนไว้จึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและเจรจากับหลายฝ่ายตลอดเวลา แต่เราจะดำเนินการให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว


นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ดำเนินการเป็นทีมเจรจากับบริษัทวัคซีน โดยพิจารณาทั้งเรื่องผลการศึกษาประสิทธิภาพ ราคา ความเหมาะสมของการใช้งานในประเทศไทย เช่น การจัดเก็บ การขนส่ง และผลข้างเคียงของวัคซีน โดยมีการเจรจาเป็นขั้นตอน ทั้งการลงนามเอกสารไม่เปิดเผยข้อมูลความลับ เอกสารการจองวัคซีน และเอกสารการซื้อวัคซีน ซึ่งต้องพิจารณาก่อนลงนามอย่างรอบคอบ เพราะข้อความต่างๆ สะท้อนถึงข้อผูกมัด ข้อตกลงที่ต้องดำเนินการร่วมกัน และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ

“เราเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด ทั้งเรื่องราคา เงื่อนไขต่างๆ เช่น กำหนดการส่งมอบวัคซีน การดูแลผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพการผลิตวัคซีน สัญญามัดจำ การวางเงินจอง บางบริษัทต้องจ่ายเงินก่อนส่งมอบ ต้องหารือกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ทุกขั้นตอนทำอย่างรอบคอบในเวลาไม่ล่าช้าไปกว่ากำหนดส่งมอบวัคซีน ซึ่งจะทราบตั้งแต่ตอนเจรจา เช่น วัคซีนไฟเซอร์วันที่ประเทศไทยตัดสินใจสั่งซื้อ กำหนดการส่งมอบคือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เป็นต้น” นายแพทย์โสภณ กล่าว


ด้าน นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติเริ่มเจรจาติดต่อประสานงานผู้ผลิตวัคซีน ทั้งที่มีวัคซีนแล้วและอยู่ระหว่างการวิจัยตั้งแต่สิงหาคม 2563 โดยมีการออกประกาศตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 18(4) ที่ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจองวัคซีนล่วงหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการวิจัยได้ จึงเป็นที่มาของการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ทั้งนี้ การเสนอจัดหาวัคซีนเมื่อมีข้อมูลจากการเจรจากับผู้ผลิต จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อความรอบคอบ เพราะเกี่ยวพันกับภาระงบประมาณและความผูกพันด้านสัญญา หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพัง และก่อนลงนามจะมีการส่งปรึกษาหารือกับหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศ

สำหรับการดำเนินการในระยะถัดไป คือ การจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมทั้งของปี 2564 และปี 2565 โดยพิจารณาผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนารุ่น 2 ที่ตอบสนองไวรัสกลายพันธุ์และจะเร่งเจรจา เพื่อให้ส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 จึงจำเป็นต้องจองล่วงหน้า ส่วนโครงการโคแวกซ์ยังไม่มีการลงนามความร่วมมือ แต่เริ่มประสานกับองค์กรกาวี (GAVI) ในการขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการโคแวกซ์สำหรับปี 2565 เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับวัคซีนของปีหน้า เมื่อมีข้อสรุปเบื้องต้นที่ชัดเจนจะเสนอผ่านคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะสนับสนุนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ โดยสนับสนุนทั้งผู้ผลิตวัคซีนที่ศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งชนิดเชื้อตาย mRNA หรือซับยูนิตโปรตีน โดยกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาช่วยประสานงาน และจะสนับสนุนการวิจัยในประเทศ ทั้ง mRNA ของจุฬาฯ วัคซีนเชื้อตายขององค์การเภสัชกรรม วัคซีน DNA ของบริษัท ไบโอเน็ทเอเชีย และวัคซีนซับยูนิต โปรตีนของบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม อย่างเต็มที่ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยพัฒนาความรู้อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวัคซีนของไทยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น