กระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือทวงเงิน 6.8 พันล้าน จากสำนักงบประมาณ หลังถูกดองมา 4 เดือนเต็ม ทำให้การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ทำห้องปลอดเชื้อ ไม่ทันสถานการณ์ และเป็นเหตุให้ไม่พอรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และติดค้างค่าเบี้ยเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์
วันนี้ (21 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 21 ก.ค. 2564 ถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เรื่อง ขอให้เร่งจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผุ้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดระลอกเดือนเมษายน 2564
โดยหนังสือระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึงสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 6,823,406,608 บาท (หกพันแปดร้อยยี่สิบสามล้านสี่แสนหกพันหกร้อยแปดบาทถ้วน) นั้น
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ เรียนกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีการแพร่ระบาดระลอก เม.ย.ในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายค้างจ่ายในพื้นที่การระบาด เช่น ค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ค่ารักษาพยาบาลฯ ค่าวัสดุ อุปกรณ์ป้องกันฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการบรรเทา แก้ไขปัญหาจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอให้สำนักงบประมาณดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยเร่งด่วน
ก่อนหน้านี้ นพ.ธงชัย ได้เคยหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 19 พ.ค. 2564 เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระพบจาการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งถึง ผอ.สำนักงบประมาณ โดยมีเนื้อหาสรุปว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระยะการระบาดระลอก เม.ย. 2564 จำนวน 6,823,406,608 บาท แต่พบว่าตนขณะนี้ก็ยังไม่มีการโอนงบประมาณมาให้กระทรวงสาธารณสุข แต่อย่างใด
การที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ที่คณะรัฐมนตรี อนุมัติกรอบวงเงิน ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 โดยรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ส่งผลให้ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ประสบปัญหา การเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัย ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ จัดหา จัดจ้างทำห้องปลอดเชื้อ ทำไม่ทันกับสถานการณ์ และเป็นเหตุให้ไม่พอรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว สำนักงบประมาณยังไม่โอนเงิน 6.8 พันล้านดังกล่าวมาให้กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย เคยอภิปรายวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 ที่ให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ไปให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมตัวป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จนวันนี้ยังไม่เป็นผล กระทรวงสาธารณสุข ยังต้องทำหนังสือทวงเงินให้ บุคลากรทางการแพทย์ เพราะสำนักงบประมาณยังไม่โอนงบประมาณให้