กระทรวงสาธารณสุข วาง 3 แนวทางใช้ Antigen Test Kit ช่วยประชาชนตรวจหาเชื้อเร็วขึ้น คาดสัปดาห์หน้าใช้ตรวจด้วยตนเองได้ ให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการดูแลรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชน ลดการใช้เตียงในโรงพยาบาล และจัด CCR Team 188 ทีม ดูแลผู้ป่วยโควิดถึงบ้านและชุมชน เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ พร้อมบูสเตอร์โดสในบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ปรับแผนฉีดวัคซีนสลับชนิด
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการตรวจรักษาโรคโควิด 19 โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีการรอตรวจหาเชื้อและรอเตียงรักษาจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขวางระบบแก้ไขดังนี้ 1. การนำ Antigen Test Kit (ATK) มาใช้ โดยระยะแรกตรวจในสถานพยาบาล และจะขยายให้ประชาชนตรวจด้วยตนเอง คาดว่า จะเริ่มได้ในสัปดาห์หน้า 2. การดูแลผู้ป่วยโควิดไม่มีอาการหรืออาการน้อยที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) และ 3. กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่ายใช้ระบบบริการปฐมภูมิดำเนินการ ส่ง Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team จำนวน 188 ทีม ดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านหรือชุมชน โดยให้ความรู้การดูแลตนเอง ดูแลรักษาทางกายและใจ ให้คำปรึกษาผ่านเทเลเมดิซีน จ่ายยารักษา หากมีอาการมากขึ้นจะประสานเข้าระบบโรงพยาบาล และถ้าพบผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือหญิงตั้งครรภ์ จะเข้าไปฉีดวัคซีนทันที ดำเนินการในช่วง 2 สัปดาห์ที่มีการล็อกดาวน์ โดยในวันนี้ ได้ปล่อยขบวน CCR Team ออกปฏิบัติงานแล้วเริ่มที่ซอยลาซาล
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องวัคซีน เนื่องจากปัญหาไวรัสกลายพันธุ์ โดย กทม.เป็นสายพันธุ์เดลตามากกว่า 50% จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันสู้ไวรัสกลายพันธุ์ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงมีมติ คือ 1.การให้วัคซีนบูสเตอร์โดสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งเดิมได้รับซิโนแวค 2 เข็ม จะได้รับวัคซีนเข็ม 3 อาจเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ 2. ปรับวิธีการฉีดโดยให้วัคซีนต่างชนิดกัน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นและเร็วขึ้น และ 3. เร่งฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีโรคเรื้อรังให้มากกว่า 80% เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต จะช่วยลดการใช้เตียงในโรงพยาบาลตามมาได้
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เป็นการใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ ดำเนินการในสถานพยาบาล ส่วนการปรับให้ใช้ด้วยตนเองได้นั้น วันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศกระทรวง และจะบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเริ่มใช้ด้วยตนเองได้ โดยช่องทางการจำหน่ายต้องเป็นสถานพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ และร้านขายยาที่มีเภสัชกรไม่สามารถขายทางอินเทอร์เน็ต โดยชุดตรวจที่มีการขึ้นทะเบียน 24 ราย ในจำนวนนี้ประมาณ 7 รายได้ยื่นเรื่องเพื่อปรับเอกสารกำกับการใช้สำหรับการใช้ด้วยตนเอง และจะมีมากขึ้นหลังกฎหมายบังคับใช้
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ชุดตรวจ Antigen Test Kit เป็นการหาองค์ประกอบไวรัส เก็บตัวอย่างเหมือนการทำ RT-PCR คือ การแหย่จมูกถึงคอหอย แหย่ทางช่องปาก โพรงจมูกหรือใช้น้ำลาย ขึ้นกับชุดตรวจแต่ละชนิด ส่วนความแม่นยำนั้นกรณีผลบวกใกล้เคียงกับ RT-PCR ถึง 90% มีข้อจำกัดคือกรณีผลลบ หากเชื้อมีน้อยจะตรวจไม่เจอ ผลลบจึงไม่ได้แปลว่าไม่มีเชื้อ ต้องตรวจซ้ำใน 3-5 วัน หรือเมื่อมีอาการ ดังนั้น ช่วงที่มีผู้ติดเชื้อไม่มากจึงไม่ได้ใช้วิธีนี้ ขณะนี้ต้องนำมาใช้เนื่องจากมีการรอตรวจจำนวนมาก หากมีผลเป็นบวกต้องแจ้งสถานพยาบาลเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจด้วยตนเอง บริษัทต้องทำเอกสารกำกับการใช้ให้ชัดเจนเข้าใจง่าย ผู้ใช้ต้องตรวจสอบวันหมดอายุ เก็บไว้ในที่ไม่โดนแสงแดด เตรียมสถานที่ตรวจไม่ให้ปะปนผู้อื่น ไม่ให้แพร่เชื้อเก็บตัวอย่างให้ถูกต้อง เมื่อนำมาสัมผัสกับน้ำยาและหยดลงชุดตรวจ จะต้องมีเส้นขึ้นที่ตัวอักษร C หากไม่ขึ้นแสดงว่าตรวจไม่ถูกต้อง ต้องใช้ชุดตรวจใหม่ ส่วนอักษร T หากมีเส้นขึ้นมาถือว่าเป็นผลบวก ไม่มีเส้นเป็นผลลบ ใช้เสร็จแล้วถือเป็นขยะติดเชื้อ ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อก่อนทิ้ง และทำความสะอาดล้างมือหลังทดสอบ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ข้อมูลตรงกันว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดกันมีประโยชน์ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงต่อสู้เดลตาได้ดี ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบการฉีดซิโนแวคเข็มแรก เว้น 3 สัปดาห์แล้วฉีดด้วยแอสตร้าเซนเนก้า จะกระตุ้นประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันสูงขึ้นใกล้เคียงแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และใช้ระยะเวลาสร้างภูมิคุ้มกันเร็วกว่า จากเดิมฉีดแอสตร้าเซนเนก้าต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ ส่วนกรณีฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกไม่ต้องสลับวัคซีนในเข็มสอง ทั้งนี้ จะจัดเตรียมวัคซีนให้เหมาะสมเพียงพอ เอาไปใช้ได้ตามสถานการณ์จำเป็นที่เหมาะสมต่อไป ส่วนการฉีดบูสเตอร์โดสบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจะฉีดห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 3-4 สัปดาห์ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ดำเนินการได้ทันที หรือ mRNA ตามความเหมาะสม ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์ที่รับบริจาคอยู่ระหว่างรอกำหนดส่งมอบ ส่วนคนทั่วไปครบ 2 เข็มจะพิจารณาบูสเตอร์โดสลำดับต่อไป
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าระบบการดูแลที่บ้าน คือ ผู้ป่วยใหม่อาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการอยู่ระหว่างรอเตียง หรือผู้ป่วยที่รักษามาแล้ว 7-10 วัน อาการคงที่ให้กลับมาดูแลต่อที่บ้าน โดยแพทย์จะพิจารณาหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย 2. อายุน้อยกว่า 60 ปี 3. สุขภาพแข็งแรง 4. พักอยู่คนเดียวหรือมีคนพักรวมไม่เกิน 1 คน 5. ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
90 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกายเกิน 30 6. ไม่มีโรคร่วมสำคัญ คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และ 7. ยินยอมในการแยกตัว
สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยขณะดูแลรักษาที่บ้าน คือ 1. ไม่ให้ใครมาเยี่ยม 2. เว้นระยะห่างจากคนอื่น 2 เมตร 3. แยกห้องพัก หากทำไม่ได้ให้แยกจากคนอื่นให้มากที่สุด อากาศต้องถ่ายเท 4. ห้ามกินดื่มด้วยกัน 5. สวมหน้ากากตลอดเวลา 6. ล้างมือบ่อยๆ 7. แยกเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหมด 8. แยกซักเสื้อผ้า 9. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่นหรือใช้หลังสุดและทำความสะอาด และ 10. แยกขยะ ทั้งนี้ สถานพยาบาลจัดระบบเข้ามาดูแลติดตามอาการ โดยมีอาหาร 3 มื้อ ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ให้ยาตามดุลยพินิจแพทย์ มีระบบเทเลเมดิซีนพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา หากอาการเปลี่ยนแปลงจะนำส่งโรงพยาบาล ส่วนกรณีแยกห้องพักไม่ได้อาจใช้แนวทางดูแลผู้ป่วยที่ชุมชน ซึ่ง กทม.ร่วมกับกรมการแพทย์ดำเนินการศูนย์พักคอย 16 ศูนย์ ใน 15 เขต รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เตรียมไว้ประมาณ 2,500 คน จัดแพทย์ พยาบาล ระบบไอทีติดตามอาการ
นายแพทย์โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว กล่าวว่า CCR Team ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ของหน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่น ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เครือข่ายภาคประชาชน บุคลากรของ กทม. เจ้าหน้าที่เขต หรือกำลังทหาร ตำรวจจำนวน 188 ทีม คอยช่วยประสานการลงพื้นที่ ดูแล 6 กลุ่มเขตใน กทม. เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันนี้ ภายใน 2 สัปดาห์ที่มีการล็อกดาวน์ และได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสนับสนุน CCR Team เบอร์0-2590-1933