อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ไทยพบ “โควิดสายพันธุ์เดลตา” เพิ่ม 170 ราย สะสม 664 ราย มากสุดอยู่ใน กทม. ขณะที่ “สายพันธุ์เบตา” พบเพิ่ม 7 ราย ภูเก็ต 2 ราย ปัตตานี 4 ราย ยะลา 1 ราย ทำให้แนวโน้มสายพันธุ์เดลตาในไทย เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น ร้อยละ 10.5 ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นพ.ยง ระบุ รอสรุปผลข้างเคียงจากการสลับยี่ห้อว่ามีความปลอดภัยหรือไม่
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการดำเนินงานเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน
รายงานผลการเฝ้าระวัง ตั้งแต่เมษายน 2564 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 พบ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 5,641 ตัวอย่าง สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 661 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 38 ตัวอย่าง
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า ข้อมูลล่าสุด พบว่า สายพันธุ์เดลตา มีการพบเพิ่มในเขตสุขภาพที่ 4 จากเดิมจำนวน 40 ราย เป็น 65 ราย รวม 105 ราย ส่วนเขตสุขภาพที่ 13 จากเดิม 404 ราย เพิ่มอีก 87 ราย รวมเป็น 491 ราย
สายพันธุ์เบตา จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะนี้ยังพบในภาคใต้ จำนวน 38 ราย โดยพบในเขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 2 ราย และเขตสุขภาพที่ 12 จากเดิม 28 ราย เพิ่มอีก 5 ราย รวม 33 ราย
จากการติดตามเด็กนักเรียนในจังหวัดยะลา เบื้องต้นพบมีทั้งสายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เบตา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานสาธารณสุขกำลังติดตามหาต้นตอว่าติดมาจากที่ไหน และกำลังเร่งติดตามว่าเชื้อมีการกระจายไปจังหวัดอื่นๆ หรือไม่ สำหรับผลการตรวจเด็กนักเรียนที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดตราด ที่กลับมาจากจังหวัดยะลา ผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด 19 ซึ่งขณะนี้เด็กอยู่ระหว่างกักตัวเฝ้าระวังต่อไป
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมเฝ้าระวังในพื้นที่แล้ว สำหรับประชาชนขอให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันโควิด-19
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 1.4 เท่า จึงไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลตาจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลตาก็จะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทั่วโลก ในอนาคตก็อาจจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยวัฏจักรแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน
ส่วนวัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ สายพันธุ์อู่ฮั่นทั้งนั้น เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไปประสิทธิภาพของวัคซีนก็เปลี่ยนไป และเชื่อว่า ในอนาคตทุกบริษัทก็จะผลิตวัคซีนให้ทันกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง ดังเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เราต้องคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของไวรัสไว้ล่วงหน้า กระบวนการเปลี่ยนแปลงในสายการผลิต ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สายพันธุ์อัลฟาลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตมาก่อนไม่มากและคงยังใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดี
ในขณะนี้ประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา และมีแนวโน้มที่จะเกิดสายพันธุ์เดลตาเข้ามาแทนที่ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คงจะต้องช่วยกันควบคุมป้องกัน ให้เกิดสายพันธุ์เดลตา ระบาดในประเทศไทยช้าที่สุดและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการให้วัคซีนในการควบคุมโรคในอนาคตให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามทรัพยากรที่เรามีอยู่
สิ่งที่สำคัญที่สุดประชาชนไทยทุกคนจะต้องช่วยกัน แม้จะฉีดวัคซีนแล้วจะต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันโควิด-19