xs
xsm
sm
md
lg

หมอรามาฯ โต้กลุ่มหนุนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เผย WHO ยืนยันไม่มีหลักฐาน ว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอรามาฯ โต้กลุ่มหนุนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เผย WHO ยืนยันไม่มีหลักฐาน บุหรี่แบบให้ความร้อนไม่เผาไหม้ อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ด้านหมอประกิต ย้ำบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งสูบยิ่งเสี่ยงติดบุหรี่ชนิดอื่นเพิ่ม ทำลายสุขภาพมากกว่าเดิม แถมไม่ช่วยเลิกสูบ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงกรณีที่มีเครือข่ายและเฟซบุ๊กเพจที่เชียร์บุหรี่ไฟฟ้า ออกมาเคลื่อนไหวขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างว่ายาสูบแบบให้ความร้อนไม่ต้องจุดไฟเผาให้เกิดควัน มีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดาอย่างมากนั้น ข้อเท็จจริงคือ องค์การอนามัยโลกได้รายงาน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 สรุปว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าบุหรี่แบบไม่เผาไหม้ช่วยลดความเสี่ยงหรือลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายสื่อสารประเด็นนี้ให้สังคมรับทราบ และควรจะห้ามไม่ให้บริษัทผู้ผลิตและกลุ่มผู้สนับสนุนอ้างว่าบุหรี่แบบไม่เผาไหม้อันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบอื่นๆ รวมทั้งห้ามแสดงให้เห็นว่าบุหรี่แบบไม่เผาไหม้เหมาะสมสำหรับใช้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับช่วยเลิกบุหรี่
“จากรายงานของคณะทำงานศึกษาผลิตภัณฑ์ยาสูบ องค์การอนามัยโลก ได้ศึกษารายละเอียดในแง่มุมต่างๆ ของบุหรี่แบบไม่เผาไหม้ที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น บุหรี่แบบไม่เผาไหม้ไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงสารพิษบางชนิดที่พบในบุหรี่แบบไม่เผาไหม้ ไม่เคยพบมาก่อนในบุหรี่แบบเดิม เช่น พบทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย ยังไม่พบคนสูบบุหรี่แบบเดิมเปลี่ยนมาสูบบุหรี่แบบไม่เผาไหม้ได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งคนส่วนมากจะสูบบุหรี่ทั้งสองอย่างควบคู่กันไป ซึ่งทำให้พบอันตรายต่อสุขภาพได้เพิ่มขึ้น” ดร.พญ.เริงฤดี ระบุ


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่แบบให้ความร้อนจากแบตเตอรี่ไม่มีการเผาไหม้ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เริ่มวางตลาดที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2557 และในสหรัฐอเมริกาในปี 2560ต่อมาในปี 2563 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ห้ามผู้ผลิตบุหรี่ชนิดใหม่นี้ อ้างว่าบุหรี่ชนิดนี้ช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ หรือมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แม้ผู้สูบบุหรี่จะได้รับสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และจากการทบทวนรายงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ ปี ค.ศ. 2008-2018 จากทั้งหมด 100 รายงาน ในจำนวนนี้มี 75 รายงาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ พบว่า สารพิษจากควันบุหรี่ที่ใช้ความร้อนแทนการเผาไหม้ มีน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าอันตรายต่อร่างกายน้อยลง

“จากรายงานต่างๆ ระบุว่า ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ชนิดใช้ความร้อนจากแบตเตอรี่มี 10-45% เป็นคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน โดยมีบุหรี่แบบให้ความร้อนชนิดใหม่ยี่ห้อหนึ่ง กลายเป็นสื่อนำไปสู่การสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 20% แต่ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้เพียง 11% ถือว่าสัดส่วนคนที่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นมีมากว่าคนที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ขณะที่คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้ความร้อนจากแบตเตอรี่แทนการเผาไหม้ ยังคงสูบบุหรี่ธรรมดาด้วยสูงถึง 69% ซึ่งอันตรายจะไม่ลดลง รวมถึงมีการส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้ความร้อนจากแบตเตอรี่แทนการเผาไหม้ โดยรวมแล้วนำไปสู่การเพิ่มจำนวนผู้สูบบุหรี่ และรายงานการสำรวจการใช้ยาสูบของวัยรุ่นในโรงเรียนทั่วประเทศสหรัฐฯ พบว่า 2.4% ของวัยรุ่นในสหรัฐฯ หรือ 632,000 คน เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า และอีก 1.6% หรือ 425,000 คน กำลังใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนชนิดที่ไม่เผาไหม้”ศ.นพ.ประกิต กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น