สังคมไทยมีปัญหาขาดแคลนเรื่องผู้นำที่ดีในทุกระดับของสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เด็กและเยาวชนขาดแบบอย่างที่ดี
ภาวะผู้นำเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตแทบจะทุกด้านไม่ว่าเรื่องครอบครัว การงาน การเรียน รวมไปถึงการอยู่ร่วมในสังคม ซึ่งสังคมไทยก็ต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีภาวะผู้นำเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ปัจจุบันผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจว่า ผู้นำ (leader) เป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ในความเป็นจริงทุกคนสามารถที่จะพัฒนาภาวะผู้นำ (leadership) ได้ เพราะการพัฒนาภาวะผู้นำนั้นเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องสั่งสมชีวิต ประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงการถูกเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก ได้รับการหล่อหลอมจากสภาพแวดล้อม และการฝึกฝนทักษะในด้านต่าง ๆ เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง
และคนที่ทำหน้าที่บ่มเพาะตั้งแต่ต้นทางได้ดีที่สุดก็คือพ่อแม่ ซึ่งสามารถสร้างภาวะผู้นำให้ลูกได้ตั้งแต่เล็กด้วยการฝึกฝนการเป็นผู้นำที่ดี
วิธีฝึกฝนลูกให้มีภาวะผู้นำที่ดี
หนึ่ง – ฝึกความรับผิดชอบให้ลูกตั้งแต่เล็ก โดยเริ่มจากรับผิดชอบตัวเอง จากนั้นก็มอบหมายให้รับผิดชอบภายในบ้าน และขยายไปสู่รับผิดชอบต่อเรื่องอื่น ๆ ที่ใหญ่ขึ้น สิ่งสำคัญต้องให้ลูกได้เรียนรู้ความหมายของคำว่ารับผิดชอบด้วย คือ ต้องรับผิด และรับชอบ จึงจะเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำที่ดี
สอง – ฝึกให้รับฟังผู้อื่น ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และสามารถที่จะหาทางออก หรือมีข้อเสนอแนะที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างให้สามารถทำงานร่วมกัน หรือมีจุดกึ่งกลางที่จะทำงานร่วมกันได้
สาม – ฝึกให้รู้จักเสียสละ เมื่อรู้ว่าไม่สามารถจัดการปัญหาหรือแก้ไขปัญหา หรือตัวเองทำผิดพลาด ก็ควรต้องเสียสละด้วยการลาออกจากการเป็นผู้นำ เพื่อให้เพื่อนหรือกลุ่มได้มีโอกาสคัดเลือกผู้นำคนใหม่
สี่ – พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ในเมื่อจะสอนลูกให้มีภาวะผู้นำที่ดีก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ได้ซะก่อน เพราะการกระทำของพ่อแม่คือการสอนให้ลูกได้เรียนรู้ทางตรง
แล้วถ้าผู้นำในสถานการณ์วิกฤตล่ะ ควรมีทักษะอะไรเพิ่มเติม
ทักษะการสื่อสาร
การสื่อสารในภาวะวิกฤติมีความสำคัญมาก ควรมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ผู้นำต้องสามารถสื่อสารให้ผู้รับสารรับทราบถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นและชี้แจงวิธีการรับมืออย่างชัดเจน ที่สำคัญการสื่อสารท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ต้องแสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจกัน (Empathic Communication) เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจเจตนาของผู้สื่อสารและเปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกัน ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ
ทักษะการสร้างความร่วมมือ
ผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่ต้องรู้จักใช้คนให้สอดคล้องกับงาน ผลักดันคนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมงาน พยายามสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น คอยสนับสนุน และพร้อมแสวงหาความร่วมมือจากทุกด้าน เพื่อรับมือกับสถานการณ์
ทักษะการตัดสินใจ
การตัดสินใจของผู้นำที่ดีต้องอยู่บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยไม่เอาความรู้สึก ความเชื่อแบบเลือกที่จะเชื่อ หรือความคิดเห็นส่วนตัวมาเป็นตัวตั้ง ทักษะนี้มีความจำเป็นอย่างมากในภาวะวิกฤติ เพราะทุกการตัดสินใจย่อมมีผลกระทบตามมา การตัดสินใจที่ถูกต้อง เหมาะสม และเด็ดขาดของผู้นำจะช่วยพาให้ผ่านภาวะวิกฤติไปได้
ทักษะความคิดที่ยืดหยุ่น
ผู้นำที่มีความคิดที่ยืดหยุ่นจะพยายามหาทางแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มองหาทางออกแก้ปัญหาในหลากหลายแง่มุม และสามารถคิดนอกกรอบ โดยไม่ยึดติดกับวิธีหรือกฎเกณฑ์เดิม ๆ จึงช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ หรือวิธีใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา
ทักษะการสร้างความไว้วางใจ
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าผู้คนไม่เชื่อถือผู้นำ หรือไม่ไว้วางใจ ต่อให้ทำผลงานดีแค่ไหนก็ไม่เข้าตา ผู้คนก็ยังเกิดคำถามและข้อกังขามากมาย ตรงกันข้าม ถ้าผู้นำได้รับความไว้วางใจ เรื่องยากในหลาย ๆ เรื่องก็อาจกลายเป็นเรื่องง่ายได้เลย
ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญมากท่ามกลางสถานการณ์ที่วิกฤต พ่อแม่ ผู้ปกครองควรต้องสร้างมุมมองของการเป็นผู้นำที่ดี ถูกต้อง เหมาะสม ในการเป็นผู้นำให้ลูกได้เข้าใจ โดยอาจยกตัวอย่างจากข่าวสารบ้านเมือง บุคคลสำคัญ ภาพยนตร์ หนังสือ หรือบุคคลใกล้ชิดที่รู้จัก ฯลฯ และชี้ให้ลูกได้เห็นตัวอย่างการเป็นผู้นำที่ดีบ่อย ๆ รวมถึงผู้นำในภาวะวิกฤตด้วย
ผู้นำไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น และผู้นำก็ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่สั่งการเท่านั้น แต่ผู้นำที่ดีควรต้องแสดงบทบาทที่ดีและเหมาะสม ที่สำคัญต้องได้รับการยอมรับจากใจของผู้อื่นด้วย