เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จัดเสวนาออนไลน์เตรียมความพร้อมกับคนรุ่นใหม่ “รักใครให้ชวนฉีดวัคซีน” ผ่านทางเฟซบุ๊ก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และภาคีเครือข่าย เนื่องในวันสุขบัญญัติแห่งชาติ ประจำปี 2564
โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่จะมีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และตลอดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในบ้านพักตนเองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากบุตรหลานที่ออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านเป็นจำนวนมาก และสำหรับกรณีคนรุ่นใหม่ที่มีความกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ อยากให้รับทราบว่าวัคซีนทุกชนิดทั่วโลกเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในสภาวะฉุกเฉิน และมีการวิจัยถึงประสิทธิภาพไม่นานมาก ดังนั้นการได้รับวัคซีนให้เร็วที่สุดตามกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ จะสามารถลดความรุนแรงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ยืนยันรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่มาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันมีการเร่งรัดจัดหาวัคซีนที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับช่วงวัยไว้แล้ว และจะสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับคนรุ่นใหม่ได้ทันทีเมื่อวัคซีนมาถึงและผ่านขั้นตอนต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระหว่างนี้จึงอยากขอความร่วมมือคนรุ่นใหม่ทุกคนทำหน้าที่เป็น ยุว อสม. หรือเป็นผู้พิทักษ์สุขภาพของครอบครัว ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมเชิญชวนผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวลงทะเบียนรับวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต หรือการเจ็บป่วยรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้” ดร.สาธิต กล่าว
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนดำเนินการจัดให้มีระบบยุวอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ ยุว อสม. ประจำพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นแกนนำเด็กและเยาวชนที่อยู่ทั้งในระบบและนอกระบบสถานศึกษาต่างๆ นับเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ที่จะสามารถช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้ โดยมุ่งให้ยุว อสม. ทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารสุขภาพ นำแนวทางสุขบัญญัติในข้อ 10 คือ “มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม” ภายใต้คำขวัญ “ยุว อสม.ชวนครอบครัวทั่วไทย พร้อมใจฉีดวัคซีน” โดยทำบทบาทตามหลัก 3 ช คือ ช.ที่ 1 ชี้แจง ความปลอดภัยและประโยชน์ของวัคซีน ช.ที่ 2 ชักชวนการลงทะเบียนเพื่อไปฉีดวัคซีนแก่คนในครอบครัว และ ช.ที่ 3 ช่วยเหลือการลงทะเบียน และติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ยุว อสม. ยังเป็นขุมพลังที่ช่วยสื่อสารให้กับเพื่อนนักเรียนบอกต่อกับคนในครอบครัวตนเองและคนรอบข้าง ให้เกิดความตระหนักเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้คนไทยทุกคนปลอดภัยยิ้มอย่างมีความสุข พร้อมต้อนรับการเปิดประเทศกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วอีกด้วย
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ปัญหาความกังวลต่อประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน นับเป็นวิกฤตข้อมูลข่าวสาร (Information Crisis) เนื่องจากในสื่อสังคมออนไลน์มีการส่งต่อข้อมูลที่มีรายละเอียดไม่รอบด้านเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะข่าวที่ไม่มีข้อเท็จจริง (Fake News) ซึ่งสร้างความสับสนและมีการส่งต่อกันในกลุ่มคนรุ่นใหม่บ่อยครั้ง สอดคล้องกับรายงานผลการสำรวจเรื่องการป้องกันตัวและความคิดเห็นของประชาชนไทยในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ครั้งที่ 5 โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีกลุ่มตัวอย่าง 7,025 คน (รอบระหว่างวันที่ 1-15 เมษายน 2564) ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 36.9 เท่านั้นที่ต้องการรับวัคซีน ขณะที่ร้อยละ 18.6 จะไม่เชิญชวนคนอื่นๆ ไปฉีดวัคซีนเนื่องจากเป็นความต้องการของแต่ละบุคคล
“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าวิกฤตการสื่อสารในครั้งนี้กลายเป็นปัญหาความเข้าใจผิดร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มต้นจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ต้องมีสำนึกรับผิดชอบ ต่อสังคมส่วนรวม ด้วยการหยุดส่งต่อข้อมูลที่มีรายละเอียดไม่รอบด้าน หรือข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จจริง ตลอดจนใช้โอกาสนี้พิสูจน์ความรักด้วยการเชิญชวนครอบครัวตนเองไปรับวัคซีนให้ไวที่สุดเพื่อลดความรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตนเองเมื่อถึงช่วงเวลาที่มีการฉีดวัคซีนให้บุคคลทั่วไป” นายพชรพรรษ์ กล่าว