“ดิศกุล” เชิญประชาพิจารณ์บทบาท หน้าที่และอำนาจของคุรุสภาในอนาคต เพื่อนำความคิดเห็นมาประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ ร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ....สนใจร่วมแสดงความเห็นได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 6 มิ.ย.
ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 เปิดเผยว่า คุรุสภา กำลังจัดทำร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.... และเพื่อให้การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปด้วยความรอบคอบ ตามรูปแบบ วิธีการ ขั้นตอนที่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 บัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ได้นำสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณาแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาเป็นแบบรับฟังความคิดเห็นประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ ร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ...เพื่อสอบถามความคิดเห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และอำนาจของคุรุสภาในอนาคต เช่น คิดว่า “คุรุสภา” ควรมีบทบาทเป็น “องค์กรของครู” ตามมาตรา 42 ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....หรือ ควรเป็น”สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา” ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 , คุรุสภาควรมีหน้าที่และอำนาจใดบ้าง เช่น ออกใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพ การพักใช้ และการเพิกถอนใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู การพัฒนา การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ การควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ การรับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรของสถาบันต่างๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพ และการเป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของประเทศไทย เป็นต้น
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวอีกว่า ในแบบสอบถามยังถามด้วยว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่คุรุสภาควรมีหน้าที่และอำนาจในการ ดูแล ส่งเสริม ช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และประโยชน์อื่นใด และในกรณีที่ไม่เห็นด้วย เห็นว่าหน่วยงานใดควรทำหน้าที่ดูแล ส่งเสริม ช่วยเหลือด้านสวัสดิการและประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ ตนขอเชิญชวนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา สถาบัน หน่วยงาน สมาคม ชมรม นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นฯ ผ่านทาง Google Form ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSeSfEsmnzeEt5-8gEAVZ7Qsa0SEVoUkE9cN-8iIX9656KnIlQ/formResponse ได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564