xs
xsm
sm
md
lg

ปรับเวลาลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านเว็บไทยร่วมใจดอทคอม-แอปฯ เป๋าตัง 9 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม. เผยปรับเวลารับลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านเว็บไซต์ไทยร่วมใจดอทคอม และแอปฯ เป๋าตังเป็น 9 โมงถึง 4 ทุ่ม ส่วนร้านสะดวกซื้อจองได้ระหว่างเวลา 9 โมงถึง 6 โมงเย็น ระบุถอดบทเรียน “คลองเตยโมเดล” ใช้ควบคุมโรคในชุมชนอื่น

วันนี้ (27 พ.ค.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครเปิดให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่ประสงค์รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ลงทะเบียนภายใต้โครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย” ตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 27 พ.ค. 64 ผ่านทาง 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ เว็บไซต์ไทยร่วมใจดอทคอม แอปพลิเคชันเป๋าตัง และร้านสะดวกซื้อที่ร่วมโครงการ และจะให้บริการฉีดวัคซีน 7 มิย.64- ก.ค.64

สำหรับยอดผู้ลงทะเบียน ณ เวลา 18.00 น. มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีน จำนวน 1,248,235 คน แบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง จำนวน 798,511 คน และกลุ่มผู้ลงทะเบียนใหม่ผ่านเว็บไซต์ไทยร่วมใจดอทคอม และร้านสะดวกซื้อที่ร่วมโครงการ จำนวน 449,724 คน โดยมีผู้ที่นัดหมายเลือกวันเวลา สถานที่ฉีดวัคซีนเรียบร้อย จำนวน 1,004,191 คน สำหรับข้อมูลของผู้ที่ลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ จะนำไปรวมกับฐานข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุข MOPH Immunization Center หรือ MOPH – IC ซึ่งจะไม่มีความซ้ำซ้อนเมื่อรับวัคซีนแต่อย่างใด สำหรับปัญหาที่พบในขณะนี้นั้น อาทิ ไม่สามารถเลือกสถานที่ที่ต้องการได้ จากการตรวจสอบพบว่าเนื่องจากเมื่อผู้ลงทะเบียนเลื่อนสถานที่แล้วแต่ไม่ได้กดคลิกเลือก ทำให้ระบบกลับไปที่ค่าเริ่มต้น ซึ่งจะเร่งแก้ไขปัญหานี้ รวมทั้งเพิ่มตัวเลือกอาชีพ “อื่นๆ” และอัปเดตให้ระบบสามารถแก้ไขข้อมูลที่ประชาชนได้ลงทะเบียนไว้แล้วต่อไป อย่างไรก็ตามในขณะนี้มีข้อมูลเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมากจึงขอเลื่อนเวลาเปิดให้บริการจองรับวัคซีน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) เป็นต้นไปจะเลื่อนเวลาเปิดให้บริการจองรับวัคซีนสำหรับ เว็บไซต์ไทยร่วมใจดอทคอม และแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เป็นเวลา 09.00-22.00 น. และสำหรับการจองผ่านร้านสะดวกซื้อ สามารถจองได้ระหว่างเวลา 09.00-18.00 น. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพระบบให้ดีขึ้นต่อไป

โฆษก กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้บริการจองวัคซีนโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย” ครั้งนี้จะให้บริการเฉพาะกลุ่มประชาชนทั่วไป อายุระหว่าง 18-59 ปี 10 เดือน และรับบริการฉีด ณ หน่วยบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 แห่ง เท่านั้น โดยเป็นประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯและประชาชนที่มีทะเบียนอยู่ต่างจังหวัดแต่มาทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งมีข้อมูลในระบบประกันสังคมและผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของประกันสังคมแต่เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี และผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนควรลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมและรับบริการ ณ โรงพยาบาล ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ ในส่วนของชาวต่างชาติที่มาทำงานในกรุงเทพฯให้รอแนวทางจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน

ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า โครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย” เป็นความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นเลิศจากหลายหน่วยงาน อาทิ ไอบีเอ็ม และธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้พัฒนาระบบ จากระบบเดิมคือแอปพลิเคชั่นเป๋าตังมาสนับสนุน และพบว่ามีผู้ลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังเป็นจำนวนมาก เป็นไปตามที่วางแผนไว้ จากการ test ระบบก่อนหน้า ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถรองรับการเข้าใช้บริการของประชาชนจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้ ตามเป้าหมายที่วางไว้

ถอดบทเรียน “คลองเตยโมเดล” ใช้ควบคุมโรคในชุมชนอื่น

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบคุมโรคในพื้นที่คลองเตย ว่า ในขณะนี้ได้รวบรวมผลการดำเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่คลองเตย โดยจะขยายผลให้เป็นคลองเตยโมเดลใช้เป็นต้นแบบในการควบคุมโรคในพื้นที่ชุมชนอื่นต่อไป ทั้งนี้ ด้วยกายภาพของชุมชนในกรุงเทพมหานครมีความแตกต่างจากชุมชนที่อยู่ในต่างจังหวัดจึงทำให้การบริหารจัดการต้องใช้รูปแบบเฉพาะ ที่ผ่านมาการควบคุมโรคในชุมชนคลองเตยประสบผลสำเร็จด้วยดีเนื่องจากมีผู้นำชุมชนและเจ้าอาวาสวัดที่เข้มแข็ง สามารถรวมพลังประชาชนและภาคีเครือข่ายในชุมชนให้การดูแลผู้ติดเชื้อให้สามารถอยู่ร่วมกันในชุมชนได้ นอกจากนี้ยังพบว่าจากที่มีการแพร่ระบาดในตลาดซึ่งมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กรุงเทพมหานครต้องทบทวนมาตรการที่มีอยู่และใช้มาตรการสำหรับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ โดยจะรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินการทั้งหมด ถอดบทเรียนสำหรับนำไปใช้ในชุมชนและพื้นที่ตลาดอื่นๆ ต่อไป

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. เปิดเผยว่า ระบบการแพทย์ของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันยังคงสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลสนามซึ่งได้จัดตั้งขึ้น มีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยได้ 3,086 เตียง มีผู้ที่เข้ารับการรักษาบางส่วน เหลือเตียงว่าง 996 เตียง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงทำให้มีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรอเข้ารับการรักษาบางส่วนซึ่งกรุงเทพมหานครจะเร่งรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาให้ครบทั้งหมดโดยเร็ว
















กำลังโหลดความคิดเห็น