พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนให้กับประชาชนที่จะไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ณ จุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 จุดทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายให้ได้วันละ 50,000 โดส
ขณะที่ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" เป็นการลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องโรคโควิด-19 ในส่วนของแต่ละจังหวัด นอกเหนือจากการลงทะเบียนฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรังของภาครัฐ โดยจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน โดยระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" จะเปิดให้ประชาชนอายุ 18-59 ปี ที่มีทะเบียนบ้านหรือประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เวลา 12.00 น. และเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้หลายช่องทาง ได้แก่ ผ่าน Call Center 1516, ผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com, แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน
อย่างไรก็ตาม การให้บริการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ โดยกรุงเทพมหานครจะได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากกระทรวงสาธารณสุขภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2564
สำหรับการพัฒนาระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" กรุงเทพมหานคร ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ธนาคารกรุงไทย (BTB) บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์ เซนเตอร์ (BIGC) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)