ศ.ดร.นพ.วิปร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชี้ วัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ผลวิจัยทั้งต่างประเทศและไทย พบว่าช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อโควิด-19 ลดความรุนแรงโรค ส่วนอาการไม่พึงประสงค์หากเกิดขึ้นรักษาได้ ชวนบุคลากรทางการแพทย์ไปรับการฉีด เหตุโอกาสเสี่ยงที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงมีมากกว่าเกิดผลแทรกซ้อน แนะประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง งดการเดินทางไปต่างจังหวัด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือ เข้มพฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคล ป้องกันการติดเชื้อ
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ฉีดวัคซีนดีไหม ปลอดภัยหรือเปล่า” ว่า การฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นชนิดใดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานเพียงพอ วัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง ปัญหาที่คนกังวลขณะนี้ คือ ภาวะแทรกซ้อนหลังฉีด ดังนั้น เราต้องพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยง โดยความเสี่ยงเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน (AEFI) แบ่งได้ 2 ชนิด คือ 1. อาการไม่พึงประสงค์ อาจเกิดจากตัววัคซีน หรือส่วนประกอบ หรือปฏิกิริยาร่างกายแต่ละบุคคลที่ต่างกัน เป็นอาการเฉพาะที่ (local) เช่น เจ็บ บวม บริเวณที่ฉีดใช้การประคบเย็น หรือบริหารแขน หรือเป็นทั้งระบบ (systemic) เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ แก้ไขโดยทานยาลดไข้ ทายาแก้ปวด พักผ่อน และ 2. อาการแพ้วัคซีน จะเหมือนคนแพ้อาหารทะเล ไรฝุ่น โปรตีนในนมวัวมีอาการตั้งแต่แพ้ไม่มาก มีผื่น จนถึงความดันตกรุนแรงได้
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ชนิดหนึ่งที่เป็นข่าวในขณะนี้ เรียกว่า ปฏิกิริยาเครียดสนองตอบต่อการฉีดวัคซีน (Immunization Related Stress Response : ISRR) เกิดจากการตอบสนองต่อความเครียดของแต่ละคนที่แตกต่างกัน เมื่อเกิดความตึงเครียดจะกระตุ้นระบบภายในร่างกาย หลั่งฮอร์โมนออกมากระตุ้นระบบประสาท ทำให้หลอดเลือดหดตัว เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม วิงเวียน ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ไม่ใช่การแกล้งทำ แต่เป็นปฏิกิริยาของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ปัจจุบันจึงมีข้อแนะนำเมื่อพบผู้ที่มีอาการทางระบบประสาทหลังการฉีดวัคซีน เช่น ชา อ่อนแรง ตามัว วิงเวียน อาเจียน แพทย์ ต้องตรวจ ประเมินอาการว่า เกิดจาก ISRR หรือเกิดจากปัญหาอื่นๆ เช่น มีลิ่มเลือดในสมอง หรือมีเลือดออก เนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำซึ่ง อาจเกิดได้ แต่พบน้อยมาก และยังไม่มีรายงานในประเทศไทย ซึ่งเรามีการสังเกตอาการ 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน รวมทั้งแนะนำให้เตรียมตัวก่อนมารับการฉีด พักผ่อน ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่เครียด
ศ.ดร.นายแพทย์ วิปร กล่าวต่อว่า มีรายงานการศึกษาวิจัยวัคซีนซิโนแวคของประเทศบราซิล ในวารสารต่างประเทศ ออกมาเมื่อต้น เม.ย. 2564 เปรียบเทียบระหว่างฉีดซิโนแวคกับใช้ยาหลอก พบว่า ปฏิกิริยาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแทบจะไม่ต่างกัน บางคนฉีดยาหลอกก็มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนแรง ส่วนอาการเฉพาะที่ผู้ฉีดวัคซีนมีอาการเจ็บเฉพาะที่มากกว่า รวมทั้งการวิจัยนี้ทำการศึกษาในกลุ่มบุคลากรแพทย์ ประมาณ 12,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพขั้นต้นหลังการฉีดวัคซีน โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนหลอกมีการติดเชื้อและมีอาการเพิ่มขึ้นชัดเจน ขณะที่คนที่ได้รับวัคซีนจริง มีประสิทธิภาพดี ลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 50.7 เปอร์เซ็นต์ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก และยังป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการปานกลางต้องให้ออกซิเจน ได้เกือบ 84 เปอร์เซ็นต์ และลดอาการรุนแรง เข้า ICU และเสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ จากงานวิจัยของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาภูมิต้านทางหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มในประเทศไทย เปรียบเทียบกับการติดเชื้อในธรรมชาติ พบว่า ระดับภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับเดียวกับการติดเชื้อในธรรมชาติ จึงเป็นข้อมูลสนับสนุนให้เรามั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ฉีดให้คนไทยกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีไม่แตกต่างจากข้อมูลในต่างประเทศ
ศ.ดร.นายแพทย์ วิปร กล่าวอีกว่า การรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ อาจทำให้บุคลากรการแพทย์บางส่วนมีความวิตกกังวลว่าจะปฏิกิริยาแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์บอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร แต่รักษาได้ ทุกรายที่มีอาการก็ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติดี จึงขอแนะนำให้ไปรับการฉีด เพราะโอกาสเสี่ยงที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงมีมากกว่าที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน แต่หากเกิดขึ้นก็รักษาได้ ขอให้มั่นใจและไปรับการฉีดวัคซีน
“ขณะนี้ มีการระบาดค่อนข้างมาก เราควรล็อกดาวน์ตัวเอง งดการเดินทางไปต่างจังหวัด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ งดทานอาหารในร้าน งดรับประทานอาหารร่วมกันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เข้มพฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคล ไม่ไปเยี่ยมคนป่วย ไม่ไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เคอร์ฟิวตัวเอง กลางคืนไม่ออกจากบ้าน จะช่วยป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ นอกเหนือไปจากการรับการฉีดวัคซีน” ศ.ดร.นายแพทย์ วิปร กล่าว