โฆษก ศบค. กำชับ “สถานดูแลผู้สูงอายุ-สถานปฏิบัติธรรม” เข้มมาตรการ รับตัวเลขทะลุหลักพัน มีผลกระทบแน่ เร่งจัดหาเตียงไอซียู ที่ประชุมประเมินหากติดวันละ 1.5 พันคน จะรับได้อีก 3 สัปดาห์ เร่งสั่ง กทม.- สธ.เร่งหาทางออกด่วน ถกเปิดไอซียูภาคสนาม
วันนี้ (23 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.35 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวัน ตอนหนึ่งระบุว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า วันที่ 23 เม.ย.จะมีการประกาศเคอร์ฟิวใน กทม. ยืนยันว่า ไม่มีเด็ดขาดและไม่มีการประชุมใดๆ ที่หารือเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้รับทราบถึงความเสี่ยงในกลุ่มก้อนของสถานดูแลผู้สูงอายุ โดยมีการยกตัวอย่างสถานดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งใน กทม. ที่พบว่า มีผู้ช่วยพยาบาลติดเชื้อจากสามี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเอกชน โดยผู้ช่วยพยาบาลรายดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้สูงอายุติดเชื้อ 2 ราย จึงได้ให้เจ้าของสถานดูแลผู้สูงอายุและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกรณีการติดเชื้อในสถานปฏิบัติธรรมที่ จ.เชียงใหม่ จึงประสานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม นำชุดข้อมูลนี้นำไปสู่การป้องกันรายอื่นๆ ที่มีกิจกรรมคล้ายกัน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมอีโอซีของกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบถึงสถานการณ์ปัญหาทั้งหมด และมีการพยากรณ์เรื่องเตียง ที่มีความห่วงใยเรื่องเตียงไอซียูของ กทม. ที่เหลือ 262 เตียง จึงต้องใช้วิธีการเบ่งเตียง หรือวิธีการเพิ่มจำนวนเตียงขึ้นในพื้นที่เดิม ขณะที่ห้องแยกความดันลบ มีเตียงทั้งหมด 479 เตียง ใช้ไปแล้ว 410 เตียง ยังว่างอยู่ 69 เตียง ซึ่งที่ประชุมมีความห่วงใยและคิดไปข้างหน้าว่าถ้ามีอัตราติดเชื้อเพิ่มจะต้องทำอย่างไร โดยมีการประเมินว่าถ้าติดเชื้อ 1,500 รายต่อวัน ทั้งประเทศจะต้องใช้ 52 เตียงต่อวัน ขณะที่ในส่วนของ กทม. 10-13 เตียงต่อวัน ซึ่งใช้ได้ 6-8 วัน โดยทั้งประเทศขณะนี้เหลือประมาณพันเตียง ถ้าต้องใช้ 52 เตียงต่อวัน จะรับได้อีก 19 วัน หรือ 3 สัปดาห์ และถือเป็นภาวะเร่งด่วนของ กทม. กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามบูรณาการเตียงและบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ทะลุ 2,000 ราย จะกระทบต่อระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ และเตียงหรือไม่ ศบค.มีแผนอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีผลกระทบแน่นอน และยังไม่รู้ว่าจุดปลายทางจะเป็นอย่างไร แต่นี่เป็นการประเมินในภาวะร้ายแรงที่สุดว่าจะทำอย่างไร คือ นอกจากใช้วิธีแบ่งเตียง คือ เพิ่มจำนวนเตียงในสถานที่เดิมในบรรยากาศที่เหมาะสมแล้วอาจจะใช้หอผู้ป่วยเตียงรวมที่ไม่มีห้องแยก (cohort COVID-ICU) หรืออาจต้องมีไอซียูสนาม ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่ แต่มีความยุ่งยาก ต้องปรับปรุงสถานที่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อมีปัญหาหรือไม่ เพราะผู้ป่วยหนักบางรายยังไม่ได้รับการรักษาและบางรายเสียชีวิตระหว่างรอ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ศบค.กราบขออภัยทุกสายที่รอ โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้บูรณาการสายด่วนเพื่อนำไปสู่การจัดการตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมรับทราบว่ามีสายเข้ามาจำนวนมาก แม้มีระบบแชตบอตขึ้นมาก็ยังไม่เพียงพอ จึงมีการปรับระบบ โดยขอผู้ที่โทร.เข้ามาเป็นผู้ที่มีผลบวกจริงๆ เมื่อโทร.ไปแล้วให้ฝากเบอร์ ฝากข้อมูลสำคัญไว้ เราจะจัดชุดคู่สายขึ้นมา 1 ทีม 50 สาย ชุดแรกจะรับสายและเก็บข้อมูล และให้ชุดที่สองโทร.กลับไป จากนั้นจะมีการแยกกลุ่มเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย.มีคนรออยู่ 1,423 ราย รับไปรักษาแล้ว 474 ราย และในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีคนรอเพิ่มขึ้นมาอีก 264 ราย
อย่างไรก็ตาม ตามที่มีข่าวว่า มีคนรอ 7 วัน 14 วัน ทำให้ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก รวมถึงที่มีการแชร์ภาพสายด่วนสุขภาพทำไมนั่งโต๊ะเอกสาร ตนอยากชี้แจงว่า การทำงานมีหลายมุม แต่บางมุมที่ออกไปก็บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน ในยามนี้เราต้องให้กำลังใจกัน โดยเราจะขยับมาตรการขึ้นเพื่อให้ตอบสนองตามสถานการณ์ ถึงแม้จะมีจำนวนเพิ่มกว่านี้เราก็จะทำให้เต็มที่