เชียงใหม่ - เชียงใหม่ระบุยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่กลับมาพุ่งพรวดอีกรอบ เนื่องจากพบระบาด 3 คลัสเตอร์ใหม่ลักษณะกิจกรรมรวมกลุ่ม ทั้งเรือนจำ, ศูนย์เด็กเล็ก และสถานปฏิบัติธรรม แถมแนวโน้มกระจายออกต่างอำเภอ กลุ่มครอบครัวติดเพิ่ม 15.1% เน้นย้ำประชาชนสวมหน้ากากอนามัย 100%
วันนี้ (22 เม.ย. 64) ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และนายแพทย์ อำพร เอี่ยมศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่วาง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ ร่วมแถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงถึงสาเหตุที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ได้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดว่า เกิดจากการตรวจเชิงรุก ทำให้พบการระบาดใน 3 คลัสเตอร์ใหม่ คือ เรือนจำ ศูนย์เด็กเล็ก และสถานปฏิบัติธรรม โดยลักษณะของการติดเชื้อในระลอกนี้พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรม การสังสรรค์ และการพบปะกันในโอกาสต่างๆ โดยละเลยมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะการไม่สวมหน้ากากอยามัย และเว้นระยะห่างขณะทำกิจกรรมร่วมกัน จึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นสำคัญ และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำรอย
ด้าน ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 237 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกเดือนเมษายนของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 2,819 ราย ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,597 ราย โดยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มในวันนี้มาจาก 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์เรือนจำกลาง อำเภอแม่แตง จำนวน 37 ราย ซึ่งไม่ได้เป็นการระบาดในแดนผู้ต้องขัง แต่เป็นผู้ต้องขังแรกรับ ที่พบจากการตรวจในระหว่างกักตัวตามมาตรการ 14 วัน ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้ง 37 รายได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่
สำหรับการพบผู้ติดเชื้อจากศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ พบว่าเกิดจากคุณครูที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งจากการตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด 120 ราย พบว่ามีเด็กในศูนย์เด็กเล็กอายุ 4-6 ขวบติดเชื้อทั้งหมด 14 ราย และอีก 2 รายเป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลนครพิงค์และโรงพยาบาลดอยสะเก็ด ร่วมกับอำเภอดอยสะเก็ดจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจขึ้นเพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้
ขณะที่คลัสเตอร์สถานปฏิบัติธรรม ที่ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ พบว่าเกิดขึ้นจากการร่วมกิจกรรมปฏิบัติธรรมและรับประทานอาหารร่วมกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์จำนวน 44 คน ซึ่งจากการตรวจหาเชื้อในกลุ่มดังกล่าวพบว่ามีผู้ร่วมกิจกรรมติดเชื้อจำนวน 23 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อของจังหวัดเชียงใหม่จำนวนทั้งสิ้น 21 ราย และอีก 2 รายเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัดลำพูน โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 21 รายได้ถูกนำเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยแม่โจ้แล้ว สำหรับมาตรการการค้นหาเชิงรุกด้วยการสุ่มตรวจกลุ่มตัวอย่างตามสถานที่สาธารณะสำคัญ ขณะนี้ทำการตรวจแล้วทั้งหมด 2,133 ราย พบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวน 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.59 จากจำนวนทั้งหมดที่สุ่มตรวจ
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่พบว่ามีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างอำเภอมากขึ้น เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นของเขตต่างอำเภอ และจากสถิติพบว่ามีการแพร่ระบาดในกลุ่มครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 15.1 ในขณะที่การระบาดกลุ่มสถานบันเทิงลดน้อยลงจากมาตรการปิดสถานบันเทิงและสถานบริการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดนั้นอยู่ใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนรักษามาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด และต้องสวมหน้ากากอนามัย 100% รักษาระยะห่าง ล้างมือให้บ่อยครั้ง สแกนแอปพลิเคชันไทยชนะ และงดงานเลี้ยงสังสรรค์ การรวมกลุ่ม เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดในคลัสเตอร์ล่าสุด ทั้งนี้ หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ
นอกจากนี้ นายแพทย์ อำพร เอี่ยมศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่วาง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสนามที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ว่า ขณะนี้มียอดผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 1,016 ราย โดยในวันนี้ได้รับเข้ามาจำนวน 33 ราย และมีผู้ป่วยที่ได้จำหน่ายออกไปจำนวน 171 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้จะได้รับใบรับรองแพทย์พร้อมเอกสารคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเมื่อต้องกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชน ทั้งนี้ ทางการแพทย์ถือว่าบุคคลที่ผ่านการรักษาแล้วเป็นผู้ที่ปลอดเชื้อและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ตามปกติ ส่วนเสื้อผ้าของใช้ของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วจะมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อนที่จะให้นำออกจากโรงพยาบาลสนาม และเมื่อกลับถึงบ้านจะมีการทำการซักอีกครั้งและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้