xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยแนวโน้มโควิดเริ่มชะลอตัว ย้ำที่ทำงานลดการรวมตัว เน้น Work From Home

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มโควิดเริ่มชะลอตัว คาด 1-2 สัปดาห์ จะลดลงหากช่วยกันควบคุม แจงคำสั่งปิดโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงเด็กที่อาจติดเชื้อไม่มีอาการแล้วนำไปแพร่ผู้สูงอายุที่บ้าน ห่วงติดเชื้อในที่ทำงาน ย้ำ Work From Home งดรวมกลุ่มกินข้าวสังสรรค์ ส่วนวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส เตรียมฉีด 5 กลุ่ม


วันนี้ (18 เม.ย.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,767 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,477 ราย คัดกรองเชิงรุก 288 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ติดเชื้อ 13,488 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 13,569 ราย และเสียชีวิตสะสม 7 ราย ทั้งนี้ การระบาดส่วนใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา กทม. ปริมณฑล ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนจังหวัดอื่นติดเชื้อในวงจำกัด ถ้าทุกคนร่วมมือกันจะควบคุมสถานการณ์ได้ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง

“การระบาดระลอกนี้เกิดจากสถานบันเทิง นักเที่ยวนำไปติดครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชน เช่น กรณีโรงเรียนเอกชน จ.สมุทรปราการ ครูไปนำเชื้อติดเพื่อนร่วมงาน นักเรียน และกระจายไปยังครอบครัว รวม 32 ราย ที่เป็นห่วงคือ เด็กติดเชื้อไม่ค่อยมีอาการ อาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายุในครอบครัวเดียวกันได้ อาจทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จึงต้องสั่งปิดสถานศึกษาในช่วงนี้” นายแพทย์โอภาส กล่าว

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สถานการณ์ยังพบผู้ป่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มเริ่มชะลอตัว ผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้น จากการมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เริ่มมีการระบาดไปยังหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ จึงต้องร่วมกันช่วยลดผู้ติดเชื้อโดยใช้มาตรการส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น มีมาตรการองค์กร โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน (Work From Home) คัดกรองผู้เข้าออก งดกิจกรรมรวมกลุ่มสังสรรค์ ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน เพราะต้องถอดหน้ากากอนามัย โดยขอให้ใส่หน้ากากให้มากที่สุดตลอดเวลาที่อยู่ใกล้กับบุคคลอื่น ล้างมือ แยกภาชนะส่วนตัว ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้มีประมาณ 5 แสนเม็ด อัตราการใช้อยู่ที่ 1 หมื่นกว่าเม็ด ต่อวัน ถือว่าเพียงพอ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการและมอบหมายองค์การเภสัชกรรมซื้อเพิ่ม 1 ล้านเม็ด คาดว่า ส่งมอบได้ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า และกำลังเจรจาสั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 1 ล้านเม็ด

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 17 เมษายน 2564 ฉีดแล้ว 608,521 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 526,706 ราย และเข็มสอง 81,815 ราย ส่วนวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส ได้รับมอบและกระจายไปจังหวัดต่างๆ แล้ว จัดสรรให้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 599,800 โดส ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายต้องฉีดกลุ่มนี้ให้ได้ 100% ภายใน 2 สัปดาห์ 2. ควบคุมโรคระบาดพื้นที่สีแดง 100,000 โดส 3. ผู้มีโรคประจำตัว 157,200 โดส 4. เจ้าหน้าที่ บุคลากรอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสคนจำนวนมาก 54,320 โดส และ 5. สำรองไว้กรณีฉุกเฉิน 98,680 โดส

“กรณี ส.ส.ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการลงพื้นที่พบประชาชนจำนวนมาก เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงาน หากมีการติดเชื้ออาจมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวจำนวนมาก ดังนั้น การให้วัคซีนจึงเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรค” นายแพทย์โอภาส กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น