ผู้ว่าฯ อัศวิน ออกประกาศ กทม.ฉบับที่ 24 กำหนดเวลาเปิด-ปิดสถานที่ ปิดอาคารเรียน ให้ “ร้านอาหาร-ร้านสะดวกซื้อ” เปิดได้ถึง 5 ทุ่ม เริ่มมีผล 18 เม.ย.นี้
วันนี้ (17 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 24) มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 นั้น เนื่องจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 ได้กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำนวน 18 จังหวัด ซึ่งมีกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยกำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวในการป้องกันและควบคุมโรค อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความ ในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 (ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
1. ให้ปิดสถานที่เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
อาคารสถานที่ของโรงเรียน สถาบันกวดวิชา และสถาบันการศึกษาทุกประเภท ห้ามใช้เพื่อจัดการเรียน การสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยให้สามารถทำกิจกรรมดังต่อไปนี้ได้
(1) เป็นการใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ
(2) เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์
(3) เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การ อุปการะแก่บุคคล
(4) เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
2. ให้คำสั่งปิดสถานที่ดังต่อไปนี้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป เพื่อประเมินสถานการณ์และดำเนินการ ตามมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
2.1 สถานที่ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 ได้แก่ สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มี ลักษณะคล้ายกัน2.2 สถานที่ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ได้แก่ (1) สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่ (2) สนามชนโค สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
3. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ
3.1 ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ ให้เปิดดำเนินการได้และสามารถบริโภคในร้านได้จนถึง เวลา 21.00 นาฬิกา และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 นาฬิกา ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น ห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน โดยดำเนินการจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน และการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด
3.2 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุกให้งดการ
3.3 ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการ ได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา สำหรับร้านหรือสถานที่ตามวรรคหนึ่งซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 นาฬิกา
3.4 สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ ไม่เกิน 21.00 นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม 3.5 การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพรโรค เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่างๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการโดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่เกิน 50 คน กรณีเกิน 50 คน แต่ไม่เกิน 1,000 คนให้ขออนุญาตโดยยื่นแผนการจัดงานและมาตรการ ควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน กรณีเกิน 1,000 คน ให้ขออนุญาตโดยยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ก่อนจัดงาน เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคเพื่อยับยั้ง
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีประกาศกรุงเทพมหานครฉบับใด ขัดหรือแย้งกับประกาศกรุงเทพมหานครฉบับนี้ ให้บังคับตามประกาศกรุงเทพมหานครฉบับนี้
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหาย อย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ประกาศ ณ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564