อย.ยืนยันว่ารัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และ อย.ไม่ได้ปิดกั้นเอกชนในการนำเข้าวัคซีนเข้ามา ยังอยากจะเชิญชวนเอกชนนำเข้ามาด้วยเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เอกชน ปัจจุบันอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนแค่ 3 แห่ง อีก 10 แห่งขอขึ้นทะเบียน แต่ยังไม่นำเอกสารมายื่น
วันนี้ (8 เม.ย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่า รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และ อย.ไม่ได้ปิดกั้นเอกชนในการนำเข้าวัคซีนเข้ามา และยังอยากจะเชิญชวนเอกชนนำเข้ามาด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เอกชน รวมทั้งขั้นตอนการขออนุมัติการขึ้นทะเบียน ทาง อย.ก็พยายามทำให้เร็วที่สุด คือ ภายใน 30 วัน เพื่อให้ทันต่อความต้องการ
เลขาธิการ อย.เปิดเผยว่า ขณะนี้ อย.อนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้ว 3 ราย คือ วัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, วัคซีนของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีเลก จำกัด ส่วนที่กำลังยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอขึ้นทะเบียนก็คือ วัคซีนของบริษัท บารัท ไบโอเทค ที่ประเทศอินเดียเป็นผู้ผลิต นอกจากนี้ยังมีวัคซีนของบริษัทอื่นอีก 10 ราย ที่แจ้งเข้ามาว่าจะขอขึ้นทะเบียน แต่ยังไม่นำเอกสารมายื่น เช่น บริษัท โมเดอร์นา บริษัท ซิโนฟาร์ม หรือสปุตนิก 5 ทาง อย.ก็ยังรอให้นำเอกสารมายื่นเพื่อขึ้นทะเบียน
สำหรับขั้นตอนการนำเข้าวัคซีน ทาง อย. กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เชิญภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือบริษัทผู้ผลิตรายอื่นๆ เข้ามารับทราบขั้นตอนแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ดังนั้น ภาคเอกชนทราบดีว่ามีขั้นตอนนำเข้าอย่างไร โดยวัคซีนที่นำเข้าจะต้องมีบริษัทผู้ขออนุญาตนำเข้า เป็นผู้ถือทะเบียนและรับผิดชอบการจำหน่ายวัคซีนในประเทศ แล้วนำเอกสารการรับรองประสิทธิภาพ ผลวิจัยต่างๆ มาให้ อย.พิจารณา ซึ่ง อย.จะเน้นดูในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน คุณภาพ และประสิทธิภาพ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน รวมทั้งจะต้องมีมาตรการควบคุม ติดตามความปลอดภัยและผลข้างเคียงหลังฉีดด้วย เพราะเป็นวัคซีนที่อนุญาตให้ใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ภาครัฐไม่ได้ปิดกั้นเอกชนในการนำเข้าวัคซีน รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกด้วย
ก่อนหน้านี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ต้องการขึ้นทะเบียนวัคซีนในไทย หากมีบริษัทผู้แทนหรือบริษัทลูกในประเทศไทยก็จะให้บริษัทผู้แทนหรือบริษัทลูก เป็นผู้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียน หากไม่มีก็ต้องแต่งตั้งตัวแทนเพื่อมายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียน ดังนั้น หากเอกชนต้องการนำเข้าวัคซีนมาก็ต้องไปประสานกับบริษัทผู้ผลิตเพื่อให้นำเอกสารมาขอขึ้นทะเบียน แต่ขณะนี้ หลายบริษัทผู้ผลิต มีนโยบายขายให้แก่ภาครัฐเท่านั้น เช่น ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน แต่หากอนาคตจะเปลี่ยนมาขายให้เอกชนก็สามารถทำได้
ส่วนเหตุผลที่บริษัทผู้ผลิตมุ่งจะขายให้เฉพาะรัฐก่อนก็เพราะเป็นวัคซีนใหม่ที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ผลิตทุกรายมีเงื่อนไขให้รัฐที่จัดซื้อวัคซีนต้องมีเงื่อนไข ห้ามไม่ให้ผู้รับวัคซีนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิตวัคซีน กรณีเกิดผลข้างเคียงรุนแรง No Fault Compensation อีกด้วย