ศ.นพ.ยง ยืนยันผลตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19“คลัสเตอร์ทองหล่อ” 24 คน เป็นสายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ “B117” รุนแรง กระจายเชื้อเร็ว ระบุแม้ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว หากมาตรการป้องกันไม่ดี การระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก
วันนี้ (7 เม.ย.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในปีนี้ ว่า หากจะให้เทียบการระบาดในปีนี้กับปีก่อน มองว่า ปีนี้การแพร่ระบาดจะมากกว่าปีก่อนถึง 10 เท่า ประกอบกับความเข้มข้นของการใช้มาตรการในปีนี้ที่น้อยกว่าปีก่อน เพราะปีก่อนมีทั้งการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว ห้ามจำหน่ายสุรา ปิดห้าง ปิดโรงเรียน และเลื่อนสงกรานต์ มาตรการปีที่แล้วกับปีนี้ห่างกัน 10 เท่า ขณะที่มาตรการลดหย่อนลงไป 10 เท่า ทำให้โอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า
อีกทั้งปีนี้ยังพบการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด หรือ B117 โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษที่หนุนให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ธรรมดาอีก 1.7 เท่า โดยจากการตรวจพบว่า คลัสเตอร์สถานบันเทิงมีผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์อังกฤษถึง 24 คน ดังนั้นโดยรวมแล้ว อาจจะทำให้สถานการณ์การระบาดในปีนี้มีมากกว่าปีก่อนถึง 170 เท่า
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า จึงเป็นสิ่งที่ทำให้มีความกังวลต่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ค่อนข้างมาก เพราะเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่หากอยู่ในตัวของคนหนุ่มสาว ซึ่งร่างกายแข็งแรงและไม่แสดงอาการ อาจจะไปแพร่เชื้อต่อให้กับผู้สูงอายุจากโอกาสในช่วงของการรดน้ำขอพรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้ เพราะผู้สูงอายุหากได้รับเชื้อนี้ จะมีความรุนแรงของโรคมากกว่า และมีโอกาสจะเสียชีวิตได้สูงตามอายุที่มากขึ้น
ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้มีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะการเคลื่อนย้ายประชากร ก็เท่ากับเป็นการเคลื่อนย้ายโรคไปได้ไกลขึ้น ขนาดสายพันธุ์อังกฤษยังหลุดเข้ามาได้ในเมื่อเราบล็อกแล้ว อยากให้ช่วยสื่อออกไปว่า ในเมื่อสงกรานต์ปีนี้ไม่สามารถล็อกได้แล้ว ถ้าเป็นไปได้ใครไม่มีความจำเป็น ต้องลดการเคลื่อนย้ายให้น้อยลง แต่ถ้าจำเป็นต้องไป ต้องมีมาตรการเคร่งครัด ตั้งแต่เริ่มออกจากบ้านจนถึงจุดหมายปลายทาง ดังนั้น ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันจะช่วยควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ไวรัสกลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิลนี้ ไม่ได้มีผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีนด้อยลง โดยวัคซีนยังมีประสิทธิภาพเท่าเดิม ความรุนแรงของโรคยังเท่าเดิม เพียงแต่จะทำให้การแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น การฉีดวัคซีนทุกชนิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดดันจากเหตุสัมพันธ์กับวัคซีนมีอัตราการเกิดขึ้นได้เพียง 1 คน ต่อการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 1 แสน - 1 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบผลดีของการฉีดวัคซีนในการช่วยป้องกันโรคแล้วจะมีประโยชน์มาก” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบความเสี่ยงของการฉีดวัคซีน กับการเดินข้ามถนนจาก รพ.จุฬาฯ ไปสีลม บอกได้เลยว่าความเสี่ยงของการข้ามถนนไปสีลมอาจจะมีมากกว่าการฉีดวัคซีน การข้ามถนนแสนครั้ง โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุมีง่ายกว่ามาก ดังนั้นเมื่อชีวิตต้องดำเนิน เมื่อมีความเสี่ยง แต่ประโยชน์ที่จะข้ามไปมีมากกว่า ซึ่งปัจจุบันความเสี่ยงในการข้ามถนนแทบจะไม่มีเลย เพราะมีสะพานลอยแล้ว การฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลเปรียบเสมือนการขึ้นสะพานลอย ที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ ขอให้สบายใจได้ในเรื่องอาการข้างเคียงที่จะเกิดจากการรับวัคซีน อยากเห็นประชากรไทยรับวัคซีนได้เร็วที่สุด ซึ่งหากไทยสามารถฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นเป็นวันละ 3 แสนโดส ก็จะทำให้ประชากรไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเวลาเพียง 1 ปี เพื่อยุติวิกฤตโควิดนี้ลงไปได้ ดังนั้น ทุกคนอย่ารีรอ เมื่อถึงกำหนดได้รับวัคซีนให้รีบไปฉีดเพื่อป้องกันตัวเอง