xs
xsm
sm
md
lg

คณบดี CMMU รับโจทย์ท้าทายครั้งใหญ่ ชูจุดแข็งคณาจารย์คุณภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) มองความท้าทายของโลกยุคใหม่ต้องปรับกลยุทธ์การศึกษา เพิ่มทักษะผู้เรียน “Cognitive Flexibility” มองหาโอกาสและปรับความคิดตามสภาพแวดล้อมใหม่ ผลักดันศักยภาพคณาจารย์ CMMU รับโจทย์ภาคธุรกิจช่วยเปิดโลกนักศึกษา

รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดี CMMU กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระดับมหภาคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โครงสร้างทางอำนาจในโลกกำลังเปลี่ยนไป เอเชียเริ่มก้าวตามทันอเมริกาและยุโรป ทั้งจำนวนประชากรที่มีกำลังซื้อมหาศาลและการลงทุนทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ทรัพยากรมากมายกำลังหลั่งไหลเข้ามาในเอเชีย นอกจากนี้ ประชากรบนโลกกว่า 60% อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ประกอบไปด้วยสองเจเนอเรชั่นที่ต่างกัน ได้แก่ คนที่อยู่ในสังคมสูงวัย (Aging Society) และ คนที่ชอบใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์ (Generation Z) และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้โลกออนไลน์กับโลกความเป็นจริงแทบแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้น เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป การทำธุรกิจต้องใช้กลยุทธ์ใหม่ การเรียนรู้เพื่อสร้างธุรกิจใน Business School ต้องปรับตาม

รศ.ดร.วิชิตา กล่าวว่า CMMU มีการเปลี่ยนแปลง เพราะผลกระทบที่เกิดกับธุรกิจทำให้เกิดทักษะใหม่ ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงการพัฒนาทักษะการรู้คิด (Cognitive Skills) หมายถึง ความสามารถในการคิดและการเรียนรู้ เช่น จากการรับรู้ ความจำ ความสนใจ ทักษะนี้จะพัฒนาไปตามประสบการณ์ในการใช้ชีวิต แต่ในโลกใบใหม่นี้ ทักษะนี้เป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องเพิ่มเติม Cognitive Flexibility หรือ ทักษะในการหาโอกาสและปรับเปลี่ยนความคิดไปตามบริบทหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยต้องมี Self Management เพื่อเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจตัวเอง และปรับตัวเองตามได้

สถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ผู้เรียนได้ปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ ต่างจากในอดีตที่บางครั้งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจหรือไม่เท่าทันโลกภายนอก ผ่านกลยุทธ์ 2 ด้าน ได้แก่ กลยุทธ์ “Inside Out” สร้างบรรยากาศภายในวิทยาลัยให้มีความหลากหลาย เนื่องจากมีอาจารย์และนักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติ แต่ละคนมีเส้นทางการเรียน (Learning Journey) ไม่เหมือนกัน หน้าที่ของสถาบันการศึกษา คือ สร้างการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Customization) ให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพของตนเอง

และกลยุทธ์ “Outside In” คือ เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกันมองจากมุมมองคนภายนอกทุกภาคส่วนหรือ Stakeholders โดยเฉพาะผู้เรียน สามารถรับฟังความต้องการ และเสริมสร้างพันธมิตรจากทั้งในและต่างประเทศ

“วงการการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเป็นจุดเริ่มต้นของคนที่ทำงานในภาคธุรกิจ เราต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง”

รศ.ดร.วิชิตา กล่าวถึง คุณภาพการศึกษาของ CMMU ที่ผสมผสาน 3 ส่วนเข้าด้วยกัน ได้แก่ การเรียนการสอน (Education) การทำวิจัย (Research) และ การบริการวิชาการ (Academic Services) โดยคณาจารย์ใน CMMU มีโอกาสในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอตามความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคล

ในปี 2564 นี้ CMMU มีหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 4 หลักสูตร หลากหลายสาขา แบ่งเป็นปริญญาโทหลักสูตรไทยและนานาชาติ หลักสูตรปริญญาเอก 2 หลักสูตร ทั้งนี้ CMMU ยังมีความร่วมมือกับสถาบันระดับนานาชาติ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยทั่วโลก, Double Degree ร่วมกับ Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย, หลักสูตร Strategy and Innovation for Businesses in Asia (SIBA) สำหรับผู้บริหารระดับสูง โดยความร่วมมือกับ MIT, Sloan School of Management ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น