เมื่อวันที่ 6 มี.ค. สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดข้อมูล 10 คำถามก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
1. รับวัคซีนที่ใด ใครจะได้รับวัคซีนบ้าง
เนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนชนิดใหม่ ความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ถึงแม้ข้อมูลในปัจจุบัน ยังไม่ชัดเจน แต่พบไม่บ่อย ในช่วงแรกจึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที หากพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้ในวงกว้าง อาจสามารถผ่อนคลายให้ฉีดวัคซีนในสถานที่อื่นๆ นอกจากโรงพยาบาลได้ต่อไป โดยในระยะแรก ทางคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงเทพมหานครได้กำหนดให้ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยง 6 เขตของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก (เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตหนองแขม เขตจอมทอง เขตบางแค เขตภาษีเจริญ) ใน 16 โรงพยาบาลในพื้นที่ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่
1. โรงพยาบาลบางขุนเทียน 1
2. โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
3. โรงพยาบาลบางมด
4. โรงพยบาลพีเอ็มจี
5. โรงพยาบาลนครธน
6. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
7. โรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค
8. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
9. โรงพยาบาลบุญญาเวช
10. โรงพยาบาลบางปะกอก 8
11. โรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ
12. โรงพยาบาลบางไผ่
13. โรงพยาบาลมิตรประชา (เพชรเกษม 2)
14. โรงพยาบาลพญาไท 3
15. โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม
16. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ
ทั้งนี้ ในช่วงที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด จึงได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19 ในระยะแรก ในพื้นที่เสี่ยง 6 เขต ได้แก่
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ทหาร ตำรวจ เป็นต้น
3. ประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ใน 7 กลุ่มโรค เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังที่อยู่ในระยะ 5 ขึ้นไป โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคอ้วนโรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
4. ประชาชนอื่นๆ ที่มีอายุ 18-59 ปี
2. รับวัคซีนโควิด ได้เมื่อใด รับพร้อมกับวัคซีนอื่นๆ ได้หรือไม่
เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เลี่ยงการรับวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกันและการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อถูกสัตว์กัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลาเนื่องจากความเสี่ยงต่อโรครุนแรงกว่า
3. จะรับวัคซีน ต้องทำอย่างไร
กลุ่มเป้าหมายจะต้องลงทะเบียนจองสิทธินัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสิทธิจองวัน เวลาและหน่วยบริการผ่านระบบ Line Official Account “หมอพร้อม” บน Smart phone สำหรับผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์ Smart phone สามารถลงทะเบียนจองสิทธิ ณ โรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลจะดำเนินการลงทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีน และตรวจสอบสิทธิว่าเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ กรณีกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัวแต่ไม่มีหลักฐานในระบบของโรงพยาบาลที่จองฉีดวัคซีน ให้ใช้หลักฐานยืนยัน เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือประวัติการรักษาในการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนล่วงหน้า ต่อจากนั้นกำหนดวันฉีดวัคซีนและหน่วยบริการฉีดวัคซีนตามที่ผู้รับบริการเลือก ยืนยันการจองฉีดวัคซีน โดยโรงพยาบาบาลสามารถออกใบนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือนัดหมายฉีดวัคซีนตามระบบนัดหมายปกติของโรงพยาบาล
สำหรับการเข้ารับบริการฉีดวัคซีน กลุ่มเป้าหมายที่ลงทะเบียนจองสิทธิทุกราย สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ ณ โรงพยาบาลตามวัน เวลาที่จองสิทธิไว้ตามบัตรนัด โดยกลุ่มเป้าหมายที่มี Line Official Account “หมอพร้อม” จะได้รับการแจ้งเตือนการนัดหมายผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม” ทั้งนี้ ในกลุ่มเป้าหมายที่มิได้มีการลงทะเบียนจองสิทธิในเวลาที่กำหนด สามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลในช่วงที่ให้บริการวัคซีนโควิด-19 แต่เนื่องจากปริมาณวัคซีนที่โรงพยาบาลได้รับการจัดสรรมีจำนวนจำกัดและไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกคน ดังนั้นโรงพยาบาลต้องให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายตามลำดับการจองสิทธิ
4. เลือกวันเวลารับวัคซีนที่ตัวเองสะดวกได้ไหม
สามารถเลือกวัน เวลาที่สะดวกได้ผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม”
5. เลือกโรงพยาบาลที่ตัวเองสะดวกได้ไหม
สามารถเลือกโรงพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม”
6 .ถ้าไม่สะดวกไปรับวัคซีนตามที่โรงพยาบาลกำหนด จะทำอย่างไร
สามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่นัดหมายเพื่อขอเลื่อนนัดได้
7. รับวัคซีนเข็มแรกที่โรงพยาบาล ก แล้วแต่ไม่สะดวกไปรับวัคซีนเข็มที่สองตามที่วันเวลาและที่โรงพยาบาลกำหนด จะต้องทำอย่างไร
สามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่นัดหมายเพื่อขอเลื่อนนัดได้ แต่ต้องไม่เกินในระยะห่างของวัคซีน 2 เข็มที่กำหนดไว้ ซึ่งโดยปกติอยู่ที่ระหว่าง 2-4 สัปดาห์ แต่ขอแนะนำที่ 3 สัปดาห์ แต่หากไม่สะดวกสามารถเลื่อนนัดรับวัคซีนเข็มที่ 2 เกิน 4 สัปดาห์จากเข็มแรกได้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้วัคซีนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
8. รับวัคซีนเข็มแรกที่โรงพยาบาล ก แล้ว ไม่สะดวกกลับไปรับวัคซีนที่โรงพยาบาล ก ขอเปลี่ยนสถานที่รับวัคซีนได้ไหม
ณ ปัจจุบัน ยังไม่สามารถเปลี่ยนสถานที่ได้ เนื่องจากข้อมูลต่างๆของผู้ที่ได้รับการฉีดจะต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน
9. ทำไมจังหวัดอื่นประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว แต่กรุงเทพฯ ประชาชนยังไม่ได้รับ
คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงเทพมหานคร ได้จัดสรรวัคซีนให้กรุงเทพมหานครจำนวนทั้งสิ้น 33,600 Dose โดยกำหนดแผนการให้บริการวัคซีนระยะแรกในพื้นที่เสี่ยง 6 เขต (เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตหนองแขม เขตจอมทอง เขตบางแค เขตภาษีเจริญ) พร้อมกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่รับวัคซีนสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเป็นช่วงทดสอบระบบ Line Official Account “หมอพร้อม” และเตรียมความพร้อมในเรื่องระบบการนำเข้าข้อมูลและการติดตาม และเฝ้าระวังดูแลรักษาอาการเนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ที่ผลิตและพัฒนาอย่างเร่งด่วน แม้ว่าหลายประเทศจะได้เริ่มให้บริการวัคซีนนี้อย่างกว้างขวาง โดยพบว่าเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย อาการภายหลังรับวัคซีนส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงก็ตาม สำหรับประเทศไทยเพื่อเป็นการกำกับติดตามความปลอดภัยและประกันความมั่นใจของประชาชนต่อวัคซีนและงานบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงมีระบบติดตามความปลอดภัยเชิงรุกสำหรับวัคซีนโควิด-19 กรณีพบอาการข้างเคียงบุคลากรกลุ่มนี้จะสามารถสังเกตความผิดปกติ และรายงานอาการไม่พึงประสงค์และสามารถให้การดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที จากนั้นสัปดาห์ที่ 2 จะให้วัคซีนแก่ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ด้านการพยาบาลพอสมควร ซึ่งหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จะสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง โดยกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับวัคซีนในระยะแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุ 18-59 ปี และมีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคเสี่ยงคือ 1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด 3. โรคหลอดเลือดสมอง 4. โรคไตเรื้อรัง 5. โรคมะเร็งทุกชนิด 6. โรคเบาหวาน 7. โรคอ้วน และประชาชนทั่วไป (อายุ 18-59 ปี) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ หลักฐานทางวิชาการ และคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างสูงสุดของประชาชน
10. ไม่อยากรับวัคซีน Sinovac รอรับวัคซีน AstraZeneca ได้หรือไม่
ได้ ทั้งนี้ โดยหลักการเลือกวัคซีนนั้น แนะนำให้เลือกวัคซีนที่จะได้เร็วที่สุด และมี อย. รับรอง และเมื่อมีวัคซีนให้เลือกมากขึ้น ให้พิจารณาจากข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัย