xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เปิดผังสาธิต 7 ขั้นตอน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ซ้อมระบบพร้อมให้บริการ เตรียมกระจาย รพ. 11 แห่ง 6 เขตในกรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ อัศวิน โชว์สาธิตการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นต้นแบบให้สถานพยาบาลกลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 โรงพยาบาล ใน 6 เขต นำไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่จัดสรรไว้ 2,500 คน เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ

วันนี้ (25 ก.พ.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมการสาธิตการให้วัคซีนแก่ประชาชน ณ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน โดยการสาธิตการให้วัคซีนกรุงเทพมหานครได้เชิญผู้แทนโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ 6 เขตที่ให้บริการวัคซีน โควิด-19 ในระยะแรก รวมทั้งสิ้น 16 โรงพยาบาล ได้แก่ 1. เขตจอมทอง ประกอบด้วย โรงพยาบาลบางขุนเทียน 1 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล และโรงพยาบาลบางมด 2. เขตบางขุนเทียน ประกอบด้วย โรงพยาบาล พีเอ็มจี โรงพยาบาลนครธน และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 3. เขตบางแค ประกอบด้วย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลบุญญาเวช 4. เขตบางบอน ประกอบด้วย โรงพยาบาลบางปะกอก 8 และโรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ 5. เขตภาษีเจริญ ประกอบด้วย โรงพยาบาลบางไผ่ โรงพยาบาลมิตรประชา (เพชรเกษม 2) และโรงพยาบาลพญาไท 3 6. เขตหนองแขม ประกอบด้วย โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนลหนองแขม และโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ ร่วมชมการสาธิต เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานที่และบุคลากรให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กล่าวว่า “วันนี้ทางกรุงเทพมหานครก็ได้ใช้โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และได้เชิญบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถานบันทางการแพทย์หรือสถาบันการทางการแพทย์ต่างๆ เชิญมาสาธิตวิธีการที่จะฉีดวัคซีน ซึ่งเดี๋ยวทางรัฐบาลจะกำหนดมาอีกว่าเริ่มฉีดเมื่อไหร่ยังไง 30% ที่ประเทศไทยได้รับมาก็จะมอบให้างกรุงเทพมหานคร อย่างเช่น 2 แสนโดส จะให้กรุงเทพมหานคร 66,000 โดส และ แอสตร้าเซนเนก้า จะได้มาประมาณแสนเศษๆ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้รับมา 30,000 โดส อย่างที่พี่น้องสื่อมวลชนได้เห็นการสาธิตทั้งหมด 7 ขั้นตอน เราจะทำเป็นขั้นเป็นตอน ทุกอย่างเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน จะไม่ให้มีผลข้างเคียงใดๆ ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าขั้นตอนหลังจากฉีดแล้ว จะมีจุดพักคอย 30 นาที เพื่อจะดูผลที่ตามมาว่าแพ้ยาแพ้อะไรหรือไม่ เราทำให้เป็นระบบทั้งหมด ในส่วนรายละเอียดจะฉีดเมื่อไหร่นั้น ก็คงต้องรอจากรัฐบาลว่าจะให้เริ่มฉีดเมื่อไหร่ เราเตรียมความพร้อมขั้นตอนไว้หมดแล้ว ทั้งขั้นตอนการลงทะเบียนจอง และอีกขั้นตอนคือถ้าไม่มีโทรศัพท์ ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล โรงพยาบาลของกทม. อีกทั้งหมด 11 แห่ง และยังมีศูนย์สาธารณสุขอีก 69 แห่ง โดยท่านสามารถไปที่ศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้านได้ ขั้นตอนตรงนี้ท่านไม่ต้องกังวล ทุกคนจะได้รับการฉีดทุกคน”

“ซึ่งเราต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลว่าจะให้เริ่มฉีควัคซีนวันไหน โดยเขาจะมอบวัคซีนให้ กทม. วันไหน ซึ่งเขาไม่ได้กำหนดมาว่าจะให้ฉีดวันไหน หลังจากนั้นก็จะประชุมของคณะกรรมการกรุงเทพมหานคร ที่ทางกรุงเทพมหานครตั้งขึ้นมา ว่าจะฉีดให้กับใครก่อน เป็นขั้นเป็นตอน โดยเมื่อได้วัคซีนมาเราจะประชุมทันที คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในเดือนมีนาคม” ผู้ว่าฯ กล่าว

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ในเรื่องของกลุ่มเป้าหมาย เราได้มีการประชาสัมพันธ์ทั้งในภาครัฐบาลเอง และทางกรุงเทพมหานครเองก็มีกลุ่มเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนด ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่อายุ 18-59 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เราได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปในสื่อต่างๆ หมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในการลงทะเบียนที่ท่านผู้ว่าฯ ได้เรียนว่าสามารถที่จะใช้แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าไม่สะดวกสามารถที่จะเช็กสิทธิและสามารถที่จะไปให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง เพื่อลงทะเบียนจองคิว รวมทั้งโรงพยาบาลอีก 11 แห่ง ในสังกัดของกรุงเทพมหานคร ก็ได้เตรียมการในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกรณีที่ไม่มีโทรศัพท์ครับ”

“ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ตอนนี้ด่านหน้าที่ทำงานใน 6 เขต ใกล้สมุทรสาครมีความประสงค์ที่จะฉีดเพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าจะต้องทำงานกับพี่น้องประชาชนโดยรอบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่เรียนเพราะว่าวัคซีนไม่มีผลข้างเคียงอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่แพทย์ที่ทำงานมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเจอกับประชาชนที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ ฉะนั้นวัคซีนนี้จะให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 6 เขตก่อน ประมาณ 6,200 คน ที่เราได้รับจัดสรร” รองปลัด กทม. กล่าว

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “สำหรับการเก็บวัคซีน ตอนนี้เราได้รับตู้แช่จากกรมควบคุมโรคมา 1 ตู้ จะนำมาตั้งไว้ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ซึ่งจำนวนวัคซีนเก็บไว้ในตู้แช่ได้แสนโดส ตรงนี้เองเมื่อได้วัคซีนมาจากกรมควบคุมโรค เราก็จะนำมาเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น เมื่อถึงเวลาที่ต้องกระจาย ก็ต้องจะกระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ ที่รวมฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีตู้เย็นพร้อมอยู่แล้ว และเวลาฉีดจริงก็จะทยอย เพื่อรักษาความเย็นระหว่างที่ไปห้องฉีดยา ฉะนั้นระบบควบคุมความเย็นมั่นใจได้ว่าวัคซีนจะมีคุณภาพดีตลอด ตั้งแต่ได้รับมาจากกรมควบคุมโรคจนฉีดเข้าสู่ร่างกายของผู้ได้รับวัคซีน โดยตามแผนจะเก็บไว้ที่นี่ก่อน”

“ทางรัฐบาลก็ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน ก็จะมีการคำนึงในแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย ในระยะมีจำนวน 2,500 คน ที่จะจัดสรรให้ใน 6 เขต” ผอ.สำนักการแพทย์ กทม. กล่าว


สำหรับวัคซีนโควิด-19ที่กรุงเทพมหานครจะได้รับจากรัฐบาลในระยะแรกมีจำนวน 66,000โดสเข็มซึ่งจะสามารถให้ประชาชนได้จำนวน 33,000คนเนื่องจากต้องให้วัคซีนคนละ 2โดสหรือ 2เข็มในระยะเวลาห่างกันประมาณ 2-4สัปดาห์ โดยกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19ระยะแรกซึ่งมีวัคซีนจำนวนจำกัดได้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 6,200คนกำหนดให้วัคซีนในสัปดาห์แรกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการหากมีอาการไม่พึงประสงค์จะสามารถให้การดูแลได้อย่างทันท่วงทีจากนั้นสัปดาห์ที่ 2จะให้วัคซีนแก่อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้มีความรู้ด้านการพยาบาลพอสมควรซึ่งหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จะสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่งจำนวน 800คนกลุ่มต่อไปคือกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7กลุ่มโรคเสี่ยงคือ 1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัดรังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด 6.โรคเบาหวาน 7.โรคอ้วนที่มีอายุ 18-59ปีจำนวน 23,500คนและกลุ่มสุดท้ายคือประชาชนทั่วไปและแรงงาน (อายุ 18-59ปี)จำนวน 2,500คนทั้งนี้มีโรงพยาบาลที่จะร่วมให้บริการฉีดวัคซีนจำนวน 15แห่งประกอบด้วยโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 3แห่งและโรงพยาบาลเอกชน 12แห่ง
























กำลังโหลดความคิดเห็น