วันนี้ (17 ก.พ.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสื่อสารโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ โครงการ U2T จะลงพื้นที่ ต.บ้านแก้ง อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว เพื่อทำกิจกรรม U2T Online Series ep 2 พลิกโฉมการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชนให้ประทับใจสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยงานนี้ จะมี น.ส.รุ่งนภา คำพญา ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวของฮอกไกโดและภูมิภาคโทโฮคุและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนของประเทศญี่ปุ่น เป็นวิทยาการในการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนกับชุมชน เพื่อที่จะเปลี่ยนโฉมการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชนของประเทศไทยให้มีกลิ่นอายสไตล์ญี่ปุ่นเพื่อกระตุ้นและยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวในวิถีใหม่และสินค้าพื้นบ้าน พื้นถิ่น ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวแนวใหม่ทั้งด้านสุขภาพ ผจญภัย อนุรักษ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่บ้านคลองอาราง ต.บ้างแก้ง ซึ่งเป็นชุมชนตัวอย่างพึ่งพาตัวเองและน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีจุดเด่น คือ กลุ่มอาชีพแปรรูปหน่อไม้ดอง ทำเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือโอทอป เป็นหน่ออ่อนของไผ่ที่แตกจากเหง้าใต้ดิน มีสีเหลืองอ่อน รสกรุบกรอบ นำมาปรุงอาหารได้ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด กลุ่มอาชีพทำน้ำส้มควันไม้ ผลิตได้จากกระบวนการเผาไหม้ไม้ เพื่อการทำถ่านหุงต้ม ผลิตภัณฑ์ไข่เค็มซีอิ๊วขาว ผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ หมวก กระบุง ตะกร้า และตุ้มหู ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก รวมทั้ง โฮมสเตย์ บ้านคลองอาราง ที่อยู่ในช่วงของการพัฒนา
ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสื่อสารฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ในช่วงปี 2563 คณะทำงานระดับพื้นที่และผู้แทนจากชุมชนจาก 16 ชุมชน ได้มีการขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงพื้นที่ อาทิ การพัฒนาศักยภาพกลุ่มสู่วิสาหกิจชุมชน โดยเริ่มต้นด้วยการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไข่เค็ม ผลิตภัณฑ์จักรสานจากไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์น้ำพริก ผลิตภัณฑ์การแปรรูปหน่อไม้ดอง เป็นกลุ่มอาชีพเริ่มต้น นำร่องเพื่อขยายผลไปสู่กลุ่มอาชีพอื่นในตำบล และนำไปสู่การขอขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งกลุ่มเครื่องจักสานไม้ไผ่ ได้เข้าสู่กระบวนการในการรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และอยู่ในช่วงของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากหน่วยงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งได้พัฒนาในรูปแบบของการทำตลาดออนไลน์ ดังนั้น โครงการ U2T หวังว่าจะลงไปพลิกโฉมการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชนให้มีรูปแบบสไตล์ญี่ปุ่น เพื่อสร้างจุดขายให้กับนักท่องเที่ยวได้