xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สูงอายุกาฬสินธุ์รวมกลุ่มทอเสื่อ สร้างอาชีพช่วงเจอผลกระทบโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - ผู้สูงอายุจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมกลุ่มทอเสื่อกก ทอผ้าพื้นเมือง ตามโครงการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน มุ่งสร้างงานให้ชาวบ้านที่เจอผลกระทบโควิด-19 ด้าน สนง.พัฒนาชุมชนอำเภอยางตลาด สนับสนุนปัจจัยการผลิตและการตลาด ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตำบล สู่ความยั่งยืน


วันนี้ (5 ก.พ.) ที่ศาลาประชาคมบ้านหนองขาม หมู่ 3 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางอุไรพร ภูถาดลาย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองขาม หมู่ 3 พร้อมด้วยกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุร่วมกันกรอเส้นด้ายทอผ้า ทอเสื่อกก ซึ่งเป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบสานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เน้นใช้วัสดุในท้องถิ่น ทั้งที่ปลูกเอง และหาได้ง่ายเพื่อประหยัดต้นทุน

นางอุไรพร ภูถาดลาย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองขาม หมู่ 3 กล่าวว่าในฤดูแล้งที่ว่างเว้นจากการทำนา ได้เชิญชวนผู้สูงอายุ สตรีแม่บ้าน รวมกลุ่มกันสร้างงานเพื่อเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ ตามที่สำนักงานพัฒนาชุมชน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้ ในโครงการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

โดยเลือกอาชีพทอเสื่อกก และทอผ้าพื้นเมือง ซึ่งมีวัสดุและทุนทางสังคมอยู่แล้ว ทั้งเป็นอาชีพที่ทำกันในชุมชนอดีต แต่ได้เลิกไปตามยุคสมัย เมื่อได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการ นอกจากเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานแล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์จำหน่าย สร้างรายได้ในครัวเรือนอีกด้วย




ด้านนายสุนทร พหลทัพ พัฒนาชุมชนอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นนโยบายของกรมพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ชาวบ้านสอนชาวบ้าน โดยให้ปราชญ์ชุมชนที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพสาขาต่างๆ เข้ามาเป็นตัวเชื่อม นำชาวบ้านสร้างงานที่ถนัดตามความพร้อมของพื้นที่

เช่น ทอเสื่อกก ทอผ้า จักสาน สานเปล และแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งปัจจัยการผลิต องค์ความรู้ และการตลาด พร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตำบล สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน


โครงการสัมมาชีพชุมชนดังกล่าวยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และเกิดการต่อยอดขยายผล ได้ใช้กลยุทธ์ชาวบ้านสอนชาวบ้าน ใช้ปราชญ์ชุมชนเป็นกำลังหลักขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เกิดรายได้ เป็นอาชีพที่ทำได้ง่ายๆ สามารถจำหน่ายได้ตลอดปี ทั้งจำหน่ายในชุมชน ศูนย์จำหน่ายโอทอปทั่วไป ขณะที่สำนักงานพัฒนาชุมชนยังเป็นจุดพักสินค้า การตลาดให้อีกทางหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น