ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ตรวจสะพานข้ามแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ ตัดกับถนนสุทธาวาส พร้อมเปิดให้ใช้งาน เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนย่านฝั่งธนฯ
วันนี้ (3 ก.พ.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมี นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นางสาวกนกวรรณ เอี่ยมลิ้ม ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผบก.น.7 ผกก.สน.บางกอกน้อย และ ผกก.สน. บางขุนนนท์ ร่วมลงพื้นที่ ณ เชิงลาดสะพานฝั่งศาลาน้ำเย็น เขตบางกอกน้อย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธาได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรของถนนสุทธาวาสและสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ (ข้ามแยกถนนเลียบทางรถไฟตัดถนนจรัญสนิทวงศ์) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ความยาวรวม 2.8 กิโลเมตร โดยก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามขนาด 2 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ยาว 360 เมตร กว้าง 8.40 เมตร และขยายถนนคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 25 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 2,500 เมตร พร้อมงานทางเท้า ระบบระบายน้ำ ระบบป้ายและเครื่องหมายจราจร ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง พร้อมทั้งขยายสะพานข้ามคลอง 3 แห่ง ซึ่งขณะนี้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบ 100% แล้ว เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมเล็กน้อย ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนในการสัญจรไปมา จึงได้เปิดให้ใช้สะพานดังกล่าวตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรฝั่งธนบุรี ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ช่วยลดเวลาการเดินทางในบริเวณดังกล่าวได้อย่างน้อย 20-30 นาที รวมทั้งจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนในการสัญจรไปยังโรงพยาบาลศิริราช ถนนอรุณอมรินทร์ และบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ดำเนินโครงการขยายสะพานอรุณอมรินทร์ จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร พร้อมทางขึ้น-ลง และก่อสร้างทางยกระดับข้ามแยกศิริราช ถึงหน้ากรมอู่ทหารเรือ ขนาด 2 ช่องจราจรระยะทาง 1.3 กิโลเมตร ซี่งปัจจุบันใกล้แล้วเสร็จ ยังเหลือในส่วนการเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อย ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง รวมถึงเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนสามารถเดินทางเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในพื้นที่ฝั่งธนบุรีต่อเนื่องไปยังพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นได้ต่อไป