“ยกเลิกสอบโอเน็ต – ข่าวดีก่อนสิ้นปี”
เป็นชื่อเรื่องของคอลัมน์นี้เมื่อปลายปีที่แล้ว หรือพูดตามจริงก็คือเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง !
ทั้งนี้ จากหนังสือลงนามโดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( ศธ.) เรื่อง การยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2563 ถึง ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2563
ส่วนการสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563 ให้คงไว้ก่อน เพราะนักเรียนต้องใช้คะแนนในการเข้าเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำหนดองค์ประกอบในการเข้าศึกษาต่อไว้แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทัน โดยคาดว่าจะยกเลิกในปี 2565
หลายคนเริ่มเฮ !
แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น !!
เพราะพอวันรุ่งขึ้น นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) ในฐานะคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. ว่า การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติยังมีความจำเป็นโดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อที่จะตรวจสอบ วินิจฉัยว่าการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีมาตรฐานและมีคุณภาพเพียงใด
“สำหรับการสอบโอเน็ตในปีการศึกษา 2563 ที่ประชุมไม่ขัดข้องในนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. แต่มีข้อกังวลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทำไม ม.6 ยังต้องสอบอยู่ แล้วสถานศึกษาที่ไม่ได้สังกัด ศธ. เช่น โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีนักเรียนในสังกัดกว่า 100,000 คน ซึ่ง สทศ.ไม่มั่นใจว่าจะสามารถให้บริการในการทดสอบกับนักเรียนเหล่านี้ได้หรือไม่ และขณะนี้ สทศ.ได้จัดพิมพ์ข้อสอบชั้น ป. 6 จำนวนกว่า 800,000 ชุด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีต้นทุนและมีความเกี่ยวเนื่องกับงบ ที่ สทศ.ได้รับงบจากสำนักงบประมาณเพื่อทำการจัดทำข้อสอบ ส่วนข้อสอบโอเน็ต ม.3 และ ม.6 สทศ.ดำเนิการจัดทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้พิมพ์”
“นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ใช้คะแนนโอเน็ตระดับชั้น ป. 6 และ ม. 3 ในรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ ไปเป็นตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องของการพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นข้อกังวลของ สทศ. และที่สำคัญรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีอำนาจในการกำกับดูแล สทศ. แต่ไม่มีอำนาจในการยกเลิกการสอบโอเน็ต และ สทศ. จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำการทดสอบระดับชาติ ดังนั้นหากจะยกเลิกการสอบเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา”
หลังจากนั้นก็มีการออกมาให้สัมภาษณ์กันเป็นระลอก ก่อนที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางสทศ.ได้ข้อสรุปว่า
1. กระทรวงศึกษาธิการมีประกาศ เรื่อง นโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ขั้นพื้นฐาน (O-NET) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ให้ผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของสถานศึกษาในกํากับของกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับการทดสอบ ทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ตามความสมัครใจโดยให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวโดยเฉพาะของนักเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
2. สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะได้แจ้งรายละเอียดแนวทางการ ดําเนินงานการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ต่อไป
สรุปง่าย ๆ ก็คือยังมีการสอบโอเน็ตชั้นป.6 และม.3 ประจำปีการศึกษา 2563 เพียงแต่ขอให้เป็นไปตามความสมัครใจ
และก็เชื่อขนมกินได้ว่า คนเป็นพ่อแม่ก็คงแห่กันสมัครใจพาลูกไปสอบอย่างแน่นอน แม้จะไม่เห็นด้วยกับเรื่องการสอบโอเน็ต แต่ด้วยทัศนคติของพ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ถูกฝังรากทางความคิดมาอย่างยาวนานที่อยากให้ลูกเรียนเก่ง เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ต้องเรียนกวดวิชา ทำทุกทางที่มีโอกาส แม้โอกาสนั้นอาจเพียงน้อยนิดก็ขอให้ได้ทำ
ประเด็นที่ต้องขอส่งเสียงดัง ๆ อีกครั้ง หลังจากแอบดีใจไปก่อนปีใหม่ แต่แล้วทุกอย่างก็ดูเหมือนกำลังจะกลับไปที่จุดเดิม
ความพยายามในการยกเลิกการสอบโอเน็ตมีมาตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนก่อนที่ประกาศปาว ๆ ว่าควรยกเลิก แต่สุดท้ายก็ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอ จนกระทั่งมาถึงรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แม้จะมีความกล้าที่จะยกเลิก แต่ก็ดูเหมือนจะไปไม่สุดอยู่ดี !
สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ ความสับสนของเด็กนักเรียนชั้น ป. 6 และ ม. 3 ว่าไม่รู้จะทำอย่างไรดี ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะเด็กบางคนก็เตรียมตัวและเรียนพิเศษติวเรื่องโอเน็ตไว้แล้ว เมื่อจู่ ๆ ก็ยกเลิกแม้สาเหตุหลักจะมาจากปัญหาที่สะสมมายาวนานและถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องข้อสอบโอเน็ต แต่เมื่อมาประจวบเหมาะกับสภาวะโควิด-19 ก็ทำให้การตัดสินใจระดับนโยบายเกิดขึ้นทันที สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบแบบฉับพลันก็คือตัวเด็ก
คุณแม่ท่านหนึ่งที่มีลูกอยู่ป. 6 ติดตามข่าวเรื่องนี้ และให้ลูกเรียนพิเศษที่โรงเรียนเพื่อติวสอบโอเน็ตมาก่อนหน้านี้ ทีแรกก็ดีใจที่ได้ข่าวว่าจะมีการยกเลิก แต่พอมารู้ข่าวอีกทีว่าแล้วแต่ความสมัครใจ คุณแม่ท่านนี้เล่าให้ฟังว่าก็สมัครใจกันทั้งห้องนั่นแหละ และตอนนี้ก็ตะลุยติวเพื่อสอบโอเน็ตกันต่อทันที !
อ้อ บนโลกออนไลน์ก็มีสถาบันกวดวิชาโปรโมทเรื่องสอบโอเน็ตป. 6 และม. 3 กันพรึ่บ
คำถามที่ตามมาก็คือ การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงที่ต้องส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียน ควรจะต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานกันเองให้ลงตัวแบบรอบคอบก่อนออกสู่สาธารณะมิใช่หรือ ไม่ใช่ทำให้เกิดความสับสน และสุดท้ายก็วนกลับไปปัญหาเดิม
เรื่องการจะยกเลิกสอบโอเน็ตควรมีการวางแผนที่ชัดเจน แบบมีกรอบเวลาที่แน่นอน เพื่อให้เด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองได้เตรียมตัววางแผนล่วงหน้าเช่นกัน ถ้าเป็นเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพราะโควิด-19 ก็เรื่องหนึ่ง การยกเลิกแบบถาวรก็เรื่องหนึ่ง แต่จนถึงขณะนี้ดูเหมือนเป็นเพียงการแก้ปัญหาเพราะโควิด-19 เท่านั้น
ความสับสนอลหม่านในเรื่องการศึกษาของบ้านเราเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด เด็กสับสน ผู้ปกครองสับสน แม้กระทั่งผู้บริหารเองก็คงสับสนด้วยละกระมัง ว่าขอบเขตอำนาจใครอยู่ตรงไหน และใครจะเป็นผู้ตัดสินในกรณีที่เห็นต่างกัน
จะให้สรุปว่าอย่างไรได้เล่านอกจาก – มันเป็นเช่นนั้นเอง