xs
xsm
sm
md
lg

สธ.โต้ “ธนาธร” วิจารณ์ไม่ตรวจสอบข้อมูล ยันจัดหาวัคซีนโควิดไม่ล่าช้า-เพียงพอ ย้ำ “แอสตราเซเนกา” เป็นฝ่ายเลือก “สยามไบโอไซเอนซ์” ผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แจงละเอียดปมจัดหาวัคซีนโควิด-19 ติงคนวิจารณ์ไม่ตรวจสอบข้อมูลสร้างความเข้าใจผิด ยันไม่ล่าช้า-เพียงพอ-ราคาไม่แพง ยัน แอสตราเซเนกา” เลือกสยามไบโอไซเอนซ์ เพราะมีศักยภาพ พร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลิตเสร็จขายให้รัฐบาลไทยในราคาต้นทุน ย้ำข้อดีไทยทยอยฉีดวัคซีนแบบไม่เร่ง ด้าน อย.ระบุยังไม่มีการขึ้นทะเบียนวัคซีนรายใด ส่วนของแอสตราเซเนกา รอเอกสารเพิ่มเติม

วันนี้ (19 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีน COVID-19 ว่า มีความล่าช้า และมีราคาแพง ไม่ครอบคลุมประชาชน รวมทั้งกระบวนการได้มาซึ่งวัคซีน ที่ถูกระบุว่าไทยติดต่อวัคซีนเพียงบริษัทเดียว เป็นการการจัดหาวัคซีนของแอสตราเซเนกา และสยามไบโอไซเอนซ์ ในเรื่องนี้


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า หลังการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมองว่าวัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด และการดำเนินการก็ไม่ได้ล่าช้า เพราะเริ่มกระบวนการตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนตามกลไก และยังมีคณะทำงานย่อย ซึ่งได้ศึกษาติดตามข้อมูลมาตลอด ซึ่งในเวลานั้นมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด ที่ต้องคาดการณ์และวางแผน โดยไทยตั้งเป้าว่า ปี 2564 หลังการทดลองเฟส 3 น่าจะได้มาฉีดให้ประชาชน ประมาณ 50% ของประชากร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนของแอสตราเซเนกา นอกจากการจองซื้อยังสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดการพัฒนาในไทยด้วย ในส่วนนี้เราได้วัคซีน 20% หรือ 26 ล้านโดส แต่ก็ยังเปิดทางให้ได้รับทางอื่นด้วย และยังคงศึกษาจากทุกเจ้าที่ผลิตวัคซีนเพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยเพราะต้องมีการทำข้อตกลง อีกทั้งเรายังไม่ได้ละเลยการสนับสนุนการผลิตเองในประเทศ เพราะถ้าสนับสนุนคนไทยทำได้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ


ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้วัคซีนโควิด-19 ในภาวะเร่งด่วนและในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนการที่สถาบันวัคซีนร่วมกันจัดหาวัคซีนและจองล่วงหน้า ใช้ข้อมูลประกอบกัน และพิจารณารูปแบบวัคซีนที่วิจัยพัฒนาอยู่ว่ามีแนวโน้มจะใช้ได้กับไทยหรือไม่ ไม่ใช่การพิจารณาแค่ชื่อบริษัท หรือตามตัววัคซีนอย่างดียว ซึ่งการจองซื้อวัคซีนกับทางแอสตราเซเนกา ไม่ใช่การจองซื้อวัคซีนทั่วไป แต่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ไทย ซึ่งแอสตราเซเนกาได้เลือกผู้ที่มีความพร้อม มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ คือ สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งพร้อมที่จะรองรับการถ่ายทอดจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด แม้แต่องค์การเภสัชกรรมของไทย ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ เพราะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการที่ไทยมีข้อตกลงในลักษณะนี้ ก็มีหลายประเทศอื่นๆ อยากได้ข้อตกลงนี้กับไทย มีผู้พยายามแข่งให้บริษัท แอสตราเซเนกา คัดเลือก แต่ทีมไทยแลนด์ ทั้ง สธ. และสถาบันวัคซีน และเอสซีจี และรัฐบาลเจรจาและแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เดิมผลิตเพียงแค่ชีววัตถุ หรือยาเพิ่มเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้องรัง ปรับศักยภาพการมาเป็นการผลิตวัคซีน ซึ่งรัฐสนับสนุน 500 ล้านบาท และเอสซีจีอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ จนเข้าคุณสมบัติ เป็นความพยายามทีมไทยแลนด์ไม่ใช่แค่ชั่วข้ามคืนที่ทำสำเร็จ แต่เป็นการวางรากฐานมาแต่เดิมว่าเป็นไปตามหลักปรัชญารัชกาลที่ ๙ ซึ่งไทยวางรากฐานแล้ว มีคน มีต้นทุนที่วางไว้ 10 กว่าปี และการที่เข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดส และเจรจาอีก 35 ล้านโดส เป็นการหาวัคซีนให้เพียงพอกับคนไทย

ไม่ต้องกังวลว่าเราจะมีวัคซีนไม่เพียงพอ ยืนยันว่า เรามีเพียงพอแน่สำหรับความต้องการของทุกคน เพราะเราสามารถจะผลิตได้เอง แม้จะเป็นสิทธิในการจำหน่ายของแอสตราเซเนกา แต่อยู่บนฐานความร่วมมือ ในอนาคตเราจะพึ่งพาตรเองได้หากมีการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ จึงต้องชื่นชมสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เข้ามาร่วมทำงานในลักษณะทีมประเทศไทย เพราะเขาต้องหยุดการผลิตเดิมทั้งหมดมาพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน 7 วัน 24 ชั่วโมง ให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย เราได้รับการถ่ายทอดตั้งแต่ต้นน้ำ แอสตราเซเนกาส่งวัคซีนมาให้เพียง 1 cc เราต้องขยายกำลังการผลิตให้ได้ 2,000 ลิตร ต้องใช้ความสามารถอย่างมาก ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดให้เป็นไปตามแผน และมั่นใจว่า เราจะได้วัคซีนแน่ และคุณภาพวัคซีนตรงตามที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซเนกากำหนดคาดการณ์ไว้


ด้าน นพ.โอภาส ระบุเพิ่มเติมว่า ในการจัดหาวัคซีนดำเนินการมาต่อเนื่อง 3-4 เดือนแล้ว หลังมีการเริ่มทดลองและผลิตในหลายประเทศ วัคซีนที่จะนำมาฉีดต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยแล้วเท่านั้น โดย อย.ซึ่งในขณะนี้มีบริษัทที่นำวัคซีนมาขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย.มีหลายบริษัท โดยทาง อย.เองก็ได้นำประเด็นนี้มาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน คาดว่า หากมีการพิจารณาแล้วเสร็จจะมีการแจ้งให้ทราบทันที และทุกอย่างยังคงเป็นไปตามแผนที่ทางกระทรวงได้กำหนดไว้ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้คนไทย โดยกลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่เคยแถลงข่าวไปแล้ว ส่วนการจัดฉีดวัคซีนให้คนไทย ได้ราคาที่เหมาะสมและถูกกว่าที่คาดการณ์ไว้

ในช่วงท้าย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่มีต่อการแพทย์และสาธารณสุขตลอดมา พระราชทานกำลังใจ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในห้วงนี้ไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้




กำลังโหลดความคิดเห็น