TK park จัดกิจกรรม “The Art of Kamishibai เล่าศิลป์ คามิชิไบ” เชื่อมโลกออนไลน์สู่ศิลปะการเล่านิทานแบบดั้งเดิมจากญี่ปุ่น เชิญ 2 วิทยากรพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เสริมทักษะนักเล่านิทานไทย TK Park เปิดพื้นที่ออนไลน์ร่วมเรียนรู้ศิลปะการเล่านิทานแบบคามิชิไบแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ในกิจกรรม “The Art of Kamishibai เล่าศิลป์ คามิชิไบ” โครงการร่วมทุนระหว่างสถาบันอุทยานการเรียนรู้และ The Japan Foundation, Bangkok โดยครั้งนี้จะเป็นการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรรับเชิญ คุณโนซากะ เอสึโกะ และ คุณนากามูตะ ริสึโกะ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการแสดงและการสร้างสรรค์คามิชิไบ ที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติจากประเทศญี่ปุ่น มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเล่านิทาน กระตุ้นแรงบันดาลใจเพื่อสื่อสารสำหรับเด็กในยุคสมัยใหม่ พร้อมถ่ายทอดเทคนิควิธีการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือการเล่านิทานโดยใช้เทคนิคคามิชิไบ เหมาะอย่างยิ่งกับครู อาจารย์ ผู้ดูแลเด็กเล็ก และผู้สนใจศิลปะการเล่าเรื่องสำหรับเด็กทุกท่าน บรรยายสดออนไลน์พร้อมกันในวันเสาร์ที่ 23 และวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2564 เวลา 13.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook: TKpark อุทยานการเรียนรู้ และ Youtube: TKpark Channel
คุณโนซากะ เอสึโกะ และ คุณนากามูตะ ริสึโกะ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการแสดงและการสร้างสรรค์คามิชิไบ กล่าวว่า ศิลปะการเล่านิทานในรูปแบบคามิชิไบ มีรูปแบบเฉพาะตัว เป็นการเล่าเรื่องราวโดยใช้ภาพวาดบนกระดาษ กระดาษแต่ละแผ่นมีเนื้อเรื่องแยกออกจากกัน การเล่าเรื่องผ่านแผ่นกระดาษที่จัดวางบนแท่นไม้ที่เปรียบเหมือนฉากนิทานแบบคามิชิไบ จะมีจังหวะการเล่าเรื่องและการเปลี่ยนฉากนิทาน ที่ชวนให้เด็กๆ มีส่วนร่วมและจดจ่อกับเรื่องราว ก่อเกิดการสื่อสารผ่านโลกนิทาน อันเป็นรากฐานให้เกิดความรู้สึกร่วมต่อโลกของนิทานระหว่างผู้เล่าเรื่องและผู้ฟังตัวน้อย
สำหรับศิลปะการเล่านิทานจากแผ่นกระดาษ คามิชิไบ มีประวัติยาวนานย้อนกลับไปนับร้อยปีก่อน คนญี่ปุ่นได้คิดค้นวิธีการเล่าเรื่องแสนมหัศจรรย์ขึ้นมารูปแบบหนึ่งเรียกว่าคามิชิไบ (Kamishibai) ในภาษา ญี่ปุ่นคำๆ นี้มีความหมายว่า ‘ละครกระดาษ’ หรือหากจะให้อธิบายเฉพาะเจาะจงลงไปกว่านั้น คามิชิไบก็คือศิลปะการเล่าเรื่องของนักเล่านิทานโดยมีรูปวาดบนแผ่นกระดาษช่วยเติมเต็มจินตนาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นักเล่านิทานคามิชิไบจะใช้กล่องไม้ที่มีบานพับแทนโรงละคร เมื่อมีผู้ชมมารุมล้อมมากพอบานไม้นั้นจะถูกเปิดออกเพื่อให้เห็นภาพวาดที่อยู่ด้านใน ในระหว่างการดำเนินเรื่องนักเล่านิทานจะค่อยๆ ดึงภาพที่ซ้อนกันอยู่ออกทีละรูป ในยุคแรกภาพวาดเหล่านั้นมักเป็นภาพที่นักเล่านิทานเป็นคนวาดด้วยตัวเอง นอกจากความสนุกสนานของเนื้อเรื่องแล้วเสน่ห์อย่างหนึ่งของคามิชิไบจึงยังขึ้นอยู่กับฝีมือการวาดภาพและลีลาการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
โดยมีการบันทึกถึงต้นกำเนิดคามิชิไบว่า เริ่มต้นขึ้นในยุคศตวรรษที่ 12 โดยเกิดขึ้นจากวัดแห่งหนึ่งที่พระสงฆ์ใช้ม้วนภาพวาดประกอบการเทศน์ เพื่อให้การแสดงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนามีความน่าสนใจและดึงดูดผู้ฟังได้ จนกระทั่งถึงยุคเอโดะ รูปแบบการเล่านิทานก็มีการพัฒนาขึ้น ภาพวาดบนกระดาษถูกห้อยเอาไว้บนเสาเพื่อให้ผู้เล่าสามารถเคลื่อนย้ายไปเล่านิทานตามสถานที่ต่างๆ ได้ และเมื่อมาถึงยุคเมจินอกจากภาพวาดแบบเต็มแผ่นทั่วไปแล้ว ยังมีคนคิดค้นสร้างหุ่นตัวละครที่เกิดจากการตัดกระดาษแปะเข้ากับเสาไม้ คล้ายๆ กับหุ่นละครเงาของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ความหลากหลายและแปลกใหม่ทำให้การเล่านิทานประกอบภาพค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในวงกว้าง
ในปี 1930 โลกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนจำนวนมากต้องตกงานอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ด้วยเหตุนี้คนจำนวนหนึ่งถึงได้เลือกผันตัวเองมาเป็นนักเล่านิทานคามิชิไบ และทำให้เป็นยุครุ่งเรืองของคามิชิไบ พวกเขาสร้างตู้ไม้เล็กๆ ที่เรียกว่า บุไต (Butai) ขึ้น แล้วติดมันเอาไว้หลังจักรยาน นักเล่านิทานจะเลือกพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน ขยับกรับไม้ (Hyōshigi) เสียงดังกริ๊บแกร๊บให้ผู้คนที่สนใจพากันล้อมวงเข้ามา จากนั้นก็จะเปิดขายลูกอม และสารพัดขนมจุกจิกเพื่อหารายได้ เมื่อพบว่ามีผู้ชมมากพอตู้บุไตก็จะถูกเปิดออกเผยให้เห็นภาพวาดฉากละคร ในช่วงที่รุ่งเรืองมากๆ นักเล่านิทานบางคนอาจต้องเปิดแสดงมากถึง 10 รอบต่อวัน โดยนิทานพื้นบ้านเรื่องฮิตที่ผู้คนในยุคนั้นนิยมหยิบยกมาเล่า ได้แก่ เจ้าหญิงคางุยะ, โมโมทาโร่ ไปจนถึงนิยายแนวดราม่า หรือซูเปอร์ฮีโร่ และเมื่อนวัตกรรมการพิมพ์เจริญขึ้น จากคามิชิไบที่สร้างสรรค์ด้วยฝีแปรง ก็เกิดเป็นธุรกิจภาพพิมพ์สีเพื่อให้นักเล่านิทานสามารถเช่าหรือซื้อหาไปประกอบอาชีพได้
คามิชิไบยังคงได้รับความนิยมจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นความบันเทิงที่มีราคาถูก ผู้คนที่อดอยากแร้นแค้นจากสงครามอาศัยเรื่องราวสนุกสนานเหล่านี้ปลอบประโลมใจให้สามารถผ่านวันอันยากลำบากไปได้ จนกระทั่งการมาถึงของโทรทัศน์ในช่วงปี 1950 เจ้าจอสี่เหลี่ยมที่มีภาพเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องอาศัยมือคนขยับจนได้รับฉายาว่า ‘คามิชิไบไฟฟ้า’ ก็เข้ามาแทนที่ จนคามิชิไบรูปแบบเก่าเสื่อมความนิยมลง นักเล่านิทานหลายคนต้องสูญเสียอาชีพที่เคยใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บ้างหันไปทำอาชีพอื่น บ้างก็อาศัยความสามารถในการเล่าเรื่องหาทางต่อยอดในแวดวงงานโทรทัศน์ แม้ในท้ายที่สุดแล้วโรงละครเล็กๆ ที่สืบสานศิลปะพื้นบ้านแต่โบราณมาต่างต้องพากันปิดตัวลง ทว่าศาสตร์แขนงนี้ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน กลวิธีเล่าเรื่องแบบคามิชิไบยังถูกนำกลับมาใช้ในการเรียนการสอน หรือในเทศกาลงานศิลปะต่างๆ อยู่เสมอๆ
ในปัจจุบันศิลปะคามิชิไบได้กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบการเล่านิทานเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักในหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก อย่างในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มคนที่ศึกษาและนำกลวิธีดังกล่าวมาใช้อยู่บ้าง อาทิ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของหอภาพยนตร์ หรือกิจกรรมเล่านิทานของ TK Park
ซึ่งพร้อมแล้วให้คุณครู อาจารย์ ผู้ดูแลเด็กเล็ก และผู้สนใจศิลปะการเล่าเรื่องสำหรับเด็กทุกท่านได้ชมบรรยายสดออนไลน์พร้อมกันในวันเสาร์ที่ 23 และวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2564 เวลา 13.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook: TKpark อุทยานการเรียนรู้ และ Youtube: TKpark Channel