รศ. นพ.ปราโมทย์ เอื้อโสภณ
หน่วยระงับปวด ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
ปวดหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อย หากไม่รุนแรงการทำกายภาพบำบัดสามารถหายได้ แต่สำหรับผู้ที่ปวดหลังเรื้อรังต้องทนทุกข์ทรมานเพราะความเจ็บปวด วันนี้มีทางเลือกหนึ่งที่เรียกว่า RFA วิธีที่จะช่วยรักษา บรรเทาอาการปวดหลัง รายละเอียดเป็นอย่างไร จะมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้
การรักษาอาการปวดหลังด้วยวิธี RFA คืออะไร
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักอาการปวดหลังจากข้อฟาเซท หรือ Facet joint pain กันก่อน ซึ่งเป็นข้อต่อเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านข้างของกระดูกสันหลังที่มาต่อกัน อาการปวดชนิดนี้พบได้บ่อยถึงร้อยละ 20-30 คนไข้มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง เวลายืนหรือเดินนาน ๆ จะมีอาการปวดมากขึ้น รวมทั้งเวลาแอ่นหลังหรือบิดตัว ก็จะมีอาการปวดมากขึ้นเช่นกัน
สำหรับการรักษา ระยะแรกจะเป็นการรักษาโดยให้ยาแก้ปวด รักษาแบบประคับประคอง และทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น การรักษาต่อไปอาจจะใช้วิธีการที่เรียกว่า Radiofrequency Ablation (RFA) การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Thermal Radiofrequency Ablation (โดยใช้ความร้อน) และ Pulsed Radiofrequency Ablation (โดยไม่ใช้ความร้อน)
ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ Thermal Radiofrequency Ablation ซึ่งเป็นการรักษาโดยใช้ความร้อนประมาณ 80 องศาเซลเซียส จี้ไปที่บริเวณเส้นประสาทเล็ก ๆ ที่ไปเลี้ยงบริเวณข้อนั้น วิธีการนี้เป็นเหมือนการบล็อกเส้นประสาทนั้น ทำให้คนไข้ไม่รับรู้ความรู้สึกปวดที่เกิดจากข้อฟาเซทนั้น ๆ
การรักษาด้วยวิธี Thermal RFA สามารถบรรเทาอาการปวด จากโรคอะไรได้บ้าง
จริง ๆ แล้ววิธีการนี้ สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ที่เราเรียกว่า Facet joint pain หรือผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าที่เกิดจากข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุได้เช่นกัน
คนไข้ที่มาพบแพทย์ ลำดับแรกแพทย์จะทำการซักถามประวัติอาการและตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของอาการปวด เพื่อประเมินว่าจะใช้วิธีการรักษาแบบนี้กับคนไข้ได้หรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการฉีดยาชาเข้าไปบริเวณที่มีอาการปวด แล้วดูว่าอาการปวดนั้นหายหรือไม่ หากอาการปวดดีขึ้นชัดเจน แสดงว่าการรักษาด้วยวิธีนี้น่าจะได้ประโยชน์ ก็จะนัดมาทำการรักษาด้วย RFA ต่อไป
ผู้ป่วยที่รับการรักษาโดยวิธีนี้จะได้ประโยชน์จากการรักษาอย่างไรบ้าง
โดยทั่วไป การรักษาด้วยวิธีนี้ จะสามารถบรรเทาอาการปวดได้นานเกิน 6 เดือน นอกจากวิธีนี้แล้วแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ทำการบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องร่วมด้วย เพื่อป้องกันมิให้โรคกลับมาเป็นซ้ำ คนไข้จะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีที่ดีที่สุดในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข