คกก.ปฏิรูปสาธารณสุข เร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ Sandbox 4 เขตสุขภาพนำร่อง หวังเกิดกลไกบูรณาการบริหารระบบสุขภาพ หนุนการปฏิรูปประเทศเพื่อประชาชน
วันนี้ (8 ม.ค.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นำโดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ประธานกรรมการ พร้อมด้วย คณะกรรมการปฏิรูปฯ อาทิ ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา นพ.โสภณ เมฆธน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน และ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมพิจารณาข้อเสนอการขับเคลื่อนเขตสุขภาพ มีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาเขตสุขภาพ
ที่มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่อย่างประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐรูปแบบใหม่ (Sandbox) ซึ่ง Sandbox จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยปลดล็อคอุปสรรคของระเบียบกฎเกณฑ์ทางราชการให้สามารถดำเนินการทดสอบหรือพัฒนานวัตกรรมได้อย่างอิสระ โดยเป็นการทดลองในวงจำกัด ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลและควบคุมความเสี่ยงต่างๆ คู่ขนานไปด้วย เพื่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ก่อนการขยายผลหรือปรับปรุงกฎหมาย ตลอดจนเป็นการสานพลังความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ไปพร้อมกันต่อไป
ข้อเสนอการขับเคลื่อนเขตสุขภาพเกิดขึ้น จากปัญหาความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน และการดำเนินงานที่เป็นอยู่ไม่ได้แก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาจากส่วนกลาง อำนาจการบริหารจัดการของแต่ละเขตไม่เบ็ดเสร็จ แยกส่วน การจัดสรรทรัพยากรด้านกำลังคนมีความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการจัดทำกลไกการบูรณาการและการจัดการเขตสุขภาพในรูปแบบ Sandbox จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
สำหรับข้อเสนอการขับเคลื่อนเขตสุขภาพที่สำคัญแบ่งเป็น 5 มิติ ได้แก่ 1) ด้านกำลังคน 2) ด้านข้อมูลสารสนเทศ 3) ด้านเทคโนโลยีสุขภาพ 4) ด้านการเงินการคลัง 5) ด้านภาวะผู้นำและอภิบาลระบบ ซึ่งทั้ง 5 มิติดังกล่าวจะนำไปสู่ระบบบริการเขตสุขภาพที่พึงประสงค์หลัก 5 เรื่อง ได้แก่ 1) การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ 2) โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) 3) ผู้สูงอายุ 4) หลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง 5) นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ส่งผลโดยรวมให้สุขภาวะของประชาชนดีขึ้น มีการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ มีการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินและทางสังคม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสุขภาพ โดยเสนอ 4 เขตสุขภาพนำร่อง ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1, 4, 9, 12 ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมีประเด็นแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ อาทิ มิติของ Sandbox ควรเพิ่มระบบบริการ เนื่องจากระบบบริการมีผลต่อการประเมินความสำเร็จของระบบบริหารจัดการ การบริหารแบบแบ่งเป็นเขตจะเห็นช่องว่างในการพัฒนาได้เป็นอย่างดี และควรนำ Six building blocks มาเป็นกรอบในการดำเนินงาน ประเด็นการส่งเสริมป้องกันโรคต้องทำให้ชัดเจนมากขึ้น สำหรับการดำเนินงานในรูปแบบ Sandbox ควรมีการระบุพื้นที่การดำเนินงาน เป้าหมาย และผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน เป็นต้น โดยคาดว่าการขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวจะแล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา Sandbox เขตสุขภาพ ภายในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่ง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะเตรียมการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยคู่ขนานให้กับการดำเนินโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขแล้ว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการนำเสนอเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ (Innovation Sandbox) เพื่อสร้างโอกาสจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ ซึ่งตามพระราชบัญญัติของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มาตรา 14 กำหนดให้สามารถจัดตั้ง Sandbox เพื่อส่งเสริมการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่และพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง โดยให้ได้รับการส่งเสริมและรับสิทธิประโยชน์ ตลอดจนได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งการดำเนินการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่เป็นการผสานแนวคิดระหว่างการวิจัย นวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจ ที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป