ด้วยจำนวนประชากรสุนัขในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อาศัยอยู่อย่างอิสระในพื้นที่สาธารณะหรืออยู่ร่วมกับชุมชุนในคณะและหน่วยงานต่างๆ พบว่า มีมากกว่าหนึ่งร้อยตัว ทั้งที่เป็นมิตรและไม่เป็นมิตร สุนัขที่ไม่เป็นมิตรและจับบังคับไม่ได้มักก่อปัญหาด้านสาธารณสุขและความปลอดภัย เช่น สร้างความบาดเจ็บและหวาดกลัวเนื่องจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ก่อความรำคาญจากเสียงและความสกปรก และที่สำคัญมีโอกาสแพร่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้จำนวนประชากรสุนัขเพิ่มมากขึ้นเพราะไม่สามารถควบคุมการผ่าตัดทำหมันได้ การ "Set Zero" ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนชาว มช. คือไม่ได้ทำให้เป็นศูนย์ แต่หมายถึงการทำให้ไม่มีสุนัขจรจัดในพื้นที่ จึงเกิดเป็น โครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู หรือ MaCMU Project เริ่มต้นเปลี่ยนสุนัขจรจัด หรือ สุนัขไร้บ้าน ในเขตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็น สุนัขชุมชน
จากกระบวนการหารือและศึกษาแนวคิดต่าง ๆ เพื่อที่จะจัดการปัญหาสุนัขภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางโครงการได้เล็งเห็นว่าจริง ๆ แล้วการนำสุนัขออกจากพื้นที่ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากในที่สุดก็จะมีสุนัขจากพื้นที่อื่นเข้ามาอยู่แทนที่สุนัขตัวที่ย้ายออกไปตามหลักธรรมชาติ จึงได้มีการสร้างระบบในการจัดการสุนัขให้สามารถอยู่กับชุมชนได้และเกิดการดูแลอย่างเป็นระบบมากขึ้น ภายใต้โครงการจัดการปัญหาสุนัข มช. หรือ MaCMU Project มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานมหาวิทยาลัย สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในชุมชน มช. มีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาสุนัขจรจัด สร้าง Community Dogs Friendly University มีแหล่งข้อมูลด้านระบบการจัดการปัญหาสุนัขในที่สาธารณะ และพัฒนาสู่การเป็นศูนย์โรคพิษสุนัขบ้าและจัดการปัญหาสุนัขในอนาคต
โดยโครงการเริ่มจากขั้นตอนการฝังไมโครชิพเพื่อทำทะเบียนประวัติสุนัข ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตรวจเลือดและตรวจสุขภาพ ควบคุมประชากรด้วยการผ่าตัดทำหมัน ฝึกให้เชื่องและเป็นมิตร สวมปลอกคอระบุพฤติกรรม ซึ่งปลอกคอจะมีสัญลักษณ์ 3 สี ได้แก่ สีเขียว คือ สุนัขที่เป็นมิตรสามารถจับเล่นได้และมีความปลอดภัย สีเหลืองเป็นสุนัขที่ยอมให้จับได้เฉพาะบางคนแต่ต้องระมัดระวัง และสีแดงเป็นสุนัขที่ไม่ยอมให้เข้าใกล้รอการปรับพฤติกรรม
ส่วนสุนัขที่ไม่มีปลอกคอเป็นสุนัขที่ยังไม่สามารถจับตัวมาเข้าโครงการได้ ซึ่งแนวปฏิบัติปลอกคอ 3 สี ได้ขยายผลไปสู่พื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ในโครงการสุนัขชุมชน ตลาดแม่กลอง เพื่อนำไปปรับใช้กับการจัดการสุนัขที่ไม่มีเจ้าของในพื้นที่สาธารณะ
โครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เกิดการสานต่อไปสู่วิชาชีพสัตวแพทย์ให้เป็นที่พึ่งแก่สังคม ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรที่ใส่ใจด้านสวัสดิภาพของสุนัข ซึ่งโครงการฯ มีเป้าหมายระยะยาวในการต่อยอดกิจกรรมสู่ชุมชนอื่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำร่องเป็น “เชียงใหม่โมเดล” โดยหวังผลให้คนและสุนัขในแต่ละชุมชนนั้น อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ปลอดภัย ตลอดจนสามารถเป็นต้นแบบนำไปประยุกต์ใช้และขยายสู่พื้นที่อื่นๆ ในรูปแบบของการมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างยั่งยืน ต่อไป