วันนี้ (22 พ.ย.) นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประเด็นคำสั่งห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามมาตรการหรือภารกิจในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 และการประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 17 พ.ย. 63 โดยที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้ทุกหน่วยงานพิจารณาดำเนินการตามภารกิจที่ได้เสนอมา พร้อมทั้งได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเวียนแจ้งร่างแผนดังกล่าว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 กรมควบคุมมลพิษร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ศึกษาสัดส่วนการก่อปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อปี พ.ศ. 2561 พบว่าสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ที่มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากภาคการขนส่งทางถนนที่มีการระบายฝุ่นละออง PM 2.5 มากที่สุดร้อยละ 72.5 (รถบรรทุก ร้อยละ 28 รถปิกอัพ ร้อยละ 21 รถยนต์นั่ง ร้อยละ 10 รถบัส ร้อยละ 7 รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 5 และรถตู้ ร้อยละ 1.5) รองลงมาได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 17 การเผาในที่โล่ง ร้อยละ 5 และอื่นๆ ร้อยละ 5.5
สำหรับประเด็นห้ามไม่ให้รถบรรทุกวิ่งเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงวิกฤตปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รุนแรง ที่ประชุมได้เห็นชอบและมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรกำหนดเวลาห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เดินรถในเขตพื้นที่ภายในของถนนวงรอบพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ (ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก) โดยขอให้พิจารณาเพิ่มเติมห้ามเดินรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปในข้อบังคับดังกล่าวด้วย รวมทั้งขอให้พิจารณาเพิ่มเติมข้อบังคับฯ โดยขอให้พิจารณาขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้ากรุงเทพมหานครจากถนนวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรดังกล่าว อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับผลกระทบ กรุงเทพมหานครจะหารือและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหาแนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อไป โดยอาจเป็นในรูปแบบการจัดหาจุดพักรถที่เหมาะสมให้กับรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ที่ต้องจอดรอในช่วงเวลาที่มีคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันปัญหาการจอดรถกีดขวางการจราจร
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยบูรณาการความร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุมฝุ่นละอองที่แหล่งกำเนิด ด้วยการเข้มงวดการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภท รวมทั้งจะประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้คล่องตัว พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการมีส่วนร่วมลดปัญหามลพิษทางอากาศ กรณีพบเห็นรถยนต์ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน หรือการเผาในที่โล่งให้แจ้งสายด่วนกรุงเทพมหานคร 1555 เพื่อกรุงเทพมหานครจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ยังได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ร่วมปฏิบัติตามมาตรการลดมลพิษทางอากาศ เช่น การใช้รถส่งเอกสารร่วมกัน (Car Pool) การรณรงค์ไม่ขับ ช่วยดับเครื่อง การหมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อมลพิษ เป็นต้น รวมถึงดำเนินการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ พร้อมให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการเฝ้าระวังสุขภาพและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM 2.5 ผ่านทางเว็บไซต์ เฟสบุ๊ก แผ่นพับ ตลอดจนกำชับให้สำนักงานเขตลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com, www.air4bangkok.com, www.prbangkok.com รวมทั้ง Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม Facebook : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ และแอปพลิเคชัน AirBKK เพื่อศึกษาข้อมูลคุณภาพอากาศ และนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อไป