“โรคเบาหวาน” อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด โดยจากสถิติของสมาคมโรคเบาหวาน พบว่าปีที่ผ่านมา (2562) ประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 4.8 ล้านคน หากเทียบให้เห็นภาพคือเกือบเท่าคนกรุงเทพฯ ทั้งจังหวัดเลยทีเดียว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ร่างกายกำลังส่งสัญญาณอันตรายว่าอาจจะเป็นเบาหวาน
สำหรับโรคเบาหวานเป็นภาวะเรื้อรังของร่างกายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของร่างกายต่อฮอร์โมนอินซูลิน ใน 2 กรณี ได้แก่
1.การหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนลดลง
2. ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ความบกพร่องดังกล่าวนี้ ทำให้ความสามารถของร่างกายในการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ร่างกายลดลง จนเกิดระดับน้ำตาลในเลือดสะสมเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อม เกิดโรค และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้น เช่น ตามองไม่ชัด ไตวายเรื้อรัง เท้าเป็นแผล โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมไปถึงการตัดอวัยวะ เป็นต้น
นายแพทย์ อดิศร มนูสาร อายุรแพทย์ แผนกโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ แนะนำการสังเกตอาการว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้อ่อนเพลียและบางรายรับประทานมากขึ้นแต่น้ำหนักลด มีแผลเรื้อรัง เป็น ๆ หายๆ ตาพร่าลาย เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน บางรายถึงขั้นไตวายและเสียชีวิต
ขณะเดียวกันผู้ป่วยในระยะแรก มักไม่มีอาการเลยไม่ได้เข้ามาพบแพทย์ ทำให้เสียโอกาสในการรักษาไป ดังนั้นเราควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงควรมารับการตรวจคัดกรองเพื่อจะได้ประโยชน์สูงสุด โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน
- อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 หรือมีรอบเอวมากกว่ามาตรฐาน โดยผู้ชายรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซม. ผู้หญิงรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 ซม.)
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง
- ผู้หญิงที่มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
- ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย
- ผู้ที่ดื่มสุรา
- ผู้ที่สูบบุหรี่
สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวาน สามารถตรวจได้ 4 วิธี เช่น กรณีโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย กินจุแต่น้ำหนักลด เป็นต้น สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือด โดยไม่ต้องงดอาหาร ส่วนกรณีที่มีความเสี่ยงแต่ไม่มีอาการ สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือด โดยงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg% ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่ดีที่สุด เพราะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ทำให้ผลการรักษามักจะดี
ส่วนการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด โดยมีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% รวมทั้งตรวจวินิจฉัยด้วยการให้รับประทานน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม หลังรับประทานทาน 2 ชั่วโมง หากมีระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ 200 mg% ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์ ส่วนแนวทางการรักษาโรคเบาหวาน โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ในปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาได้ให้มีการใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติได้ ซึ่งประกอบด้วย
การรักษาแบบใช้ยา ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ยารับประทานและยาฉีด โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยในปัจจุบันยารักษาโรคเบาหวานนั้นมีผลข้างเคียงน้อย และสะดวกในการใช้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษาแบบไม่ใช้ยา คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คุมอาหาร และออกกำลังกาย
นายแพทย์ อดิศร แนะวิธีการป้องกัน ห่างไกลโรคนี้ เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ ทำให้มีการดูดซึมน้ำตาลช้า อิ่มนาน เช่น วุ้นเส้น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ผักใบเขียว ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ กล้วยน้ำว้า เป็นต้น, รับประทานน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 - 5 ครั้ง หรืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
การรักษาที่กล่าวมานั้น ทำให้เพียงรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้ใกล้เคียงเกณฑ์ปกติให้มากที่สุด รวมถึงป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ตามกำหนดเพื่อติดตามอาการเป็นระยะ
รักษาเบาหวานแบบไหนที่เรียกว่ารักษาแล้วได้ผลดี?
การรักษาเบาหวานมีเป้าหมายหลัก ๆ อยู่ 3 ข้อ ดังนี้
1. รักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คือระดับน้ำตาลหลังงดน้ำและอาหาร (Fasting Plasma Glucose) อยู่ระหว่าง 80-130 mg% และน้ำตาลสะสม (HbA1C) น้อยกว่า 6.5% โดยในผู้สูงอายุอาจปรับลดเป้าหมายลง เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
2. ป้องกันภาวะแทรกซ้อนทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งข้อนี้แพทย์ที่ดูแลจะประเมินอย่างต่อเนื่องและ เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
3. การตรวจโรคร่วมอื่น ๆ อันได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
สำหรับคลินิกโรคเบาหวานเเละความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ให้บริการ วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวาน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม พร้อมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยและครบวงจร และเนื่องในวันเบาหวานโลก ทางโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ขอเชิญชวนร่วมงาน “เบาหวาน อยู่อย่างไรให้มีความสุข” ภายในงานมีเเพทย์ มาให้ความรู้เพื่อสร้างสุขภาพเพื่อการดูแลตนเอง ลดการกินยา ห่างไกลโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง และเบาหวานจะทำให้ดวงตามืดสนิทจริงไหม? ในวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.00-12.00 น. ณ ลานกิจกรรมผู้ป่วยนอก ชั้นG
สำหรับผู้ที่สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าจะได้รับบริการตรวจคัดกรอง ไม่มีค่าใช่จ่าย ทั้งการตรวจภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Fundus Camera) และการเจาะน้ำตาลเพื่อคัดกรองเบาหวานเบื้องต้น โดยลงทะเบียนร่วมงานกิจกรรมเบาหวานได้ที่ https://bit.ly/2IntZBU หรือสำรองที่นั่งได้ที่ 091 009 9026 (คุณตาล) หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv