xs
xsm
sm
md
lg

อย่าใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความรุนแรง!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ชนิดที่ถ้าใครมีความคิดที่ไม่เหมือนกันก็จะถูกผลักให้ไปอยู่อีกฝ่าย แทบไม่เหลือพื้นที่ระหว่างทางเลย ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่อึดอัดคับข้องไม่สบายใจต่อวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ใด 

แต่ไม่ว่าจะจบลงที่ใด ก็ต้องขอปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ !

คำว่า “ทุกรูปแบบ” หมายความตามนั้นจริง ๆ ไม่มีข้อยกเว้นว่านิดเดียว แค่นี้ แค่นั้น เพราะโน่นนี่นั่น ฯลฯ เพราะความรุนแรงก็คือความรุนแรง จะเป็นความรุนแรงระดับไหนก็คือความรุนแรง

แน่นอน ไม่ได้หมายความเฉพาะความรุนแรง “ทางกายภาพ” ชนิดทำร้ายร่างกายกันและกันเท่านั้น หากแต่ต้องหมายรวมถึงความรุนแรง “ทางวาจา” หรือ “ทางการกระทำ” รวมทั้ง “ทางการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์” บางอย่างด้วยเช่นกัน ที่ล้วนเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความรุนแรง “ทางกายภาพ” ในที่สุด 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงออกต้องการสื่อสารบางประการด้วยการใช้มีดกรีดแขนตัวเองระหว่างการอภิปราย ดิฉันเองก็กำลังดูการอภิปรายอยู่ ยอมรับว่าตกใจและรู้สึกหงุดหงิดใจถึงวิธีการดังกล่าวที่ถูกเลือกมาเป็นการประท้วงต่อผู้นำรัฐบาล 

ประเด็นก็คือ กำลังถ่ายทอดสดออกอากาศผ่านสื่อกระแสหลัก 

และหมายความว่ามีผู้คนที่กำลังดูรายการอยู่จำนวนมาก เห็นภาพวิธีการผ่านเรียลไทม์ โดยมิได้มีใครทักท้วงทัน สุดท้ายก็ไปโรงพยาบาล และปลอดภัย

ประเด็นก็คือ สิ่งที่คนทำงานทางด้านเด็กและเยาวชนพยายามเรียกร้องและวิงวอนมาโดยตลอดถึงเรื่องความไม่เหมาะสมของคนทำสื่อว่าพยายามอย่าสื่อถึงเรื่องความรุนแรงแบบตรงไปตรงมา มีวิธีการมากมายในการนำเสนอที่หลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นห่วงเด็กและเยาวชน 

และคำว่าเด็กและเยาวชนก็หมายรวมถึงเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ มิใช่เฉพาะที่อยู่ในเมือง เพราะต้นทุนทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศไม่เท่ากัน !

ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบอีกฝ่าย ต้องคำนึงด้วยว่าผู้คนมีอารมณ์ร่วมต่อสถานการณ์เป็นอย่างมาก และผลที่ตามมาคือไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่เกิดกับลูกหลานของเรา หรือเด็กและเยาวชนที่ต้องเสพรับเอาอารมณ์ร่วมเหล่านั้นไปด้วย

และผลกระทบก็ลงไปที่ตัวเด็ก กระทบต่อต้นทุนชีวิตของเด็กหลายด้าน โดยเฉพาะเด็กที่มีต้นทุนทักษะชีวิตต่ำ และมีภาวะความเสี่ยงสูงในการเสพความรุนแรงล้อมรอบตัว ทั้งโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าเป็นช่วงวัยรุ่น สภาพร่างกายและจิตใจของกลุ่มวัยรุ่นมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน ทางกายวิภาคของสมอง และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กวัยรุ่นจึงมักหุนหันพลันแล่น และขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะสมองส่วนหน้าจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาที่ดี ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ ประสบการณ์ จนกว่าจะบรรลุวุฒิภาวะ

ดังนั้น การจัดการความขัดแย้งต้องไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งร่างกายและวาจา รวมถึงการทำร้ายตัวเองก็เป็นความรุนแรงหนึ่งที่ไม่ควรทำและไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา 

ทุกวันนี้ความรุนแรงแทรกซึมอยู่รายล้อมรอบตัวแทบจะทุกระดับในสังคม 
 
เพราะนอกจากครอบครัว ประเด็นเรื่องพ่อแม่ทำร้ายลูก สามีทำร้ายภรรยา ครูทำร้ายลูกศิษย์ ฯลฯ เป็นปัญหาสังคมที่มีมาโดยตลอด และนับวันจะยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้น สภาพแวดล้อมเองก็มีส่วนกระตุ้นและเร่งเร้าให้เกิดความปะทุอารมณ์ของผู้คน 

อีกทั้งปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ การโพสต์ การแชร์ และการแสดงความคิดเห็น จนกลายมาเป็นประเด็นการใช้ Hate Speech ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคม และอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดผลร้ายต่อผู้ใดผู้หนึ่งได้เลยทันที หรือนําไปสู่ความรุนแรง เช่น การปลุกระดมให้เกลียดชังใคร ให้ทําร้ายร่างกาย ข่มขู่ ฯลฯ

แล้วนี่..กลับกลายเป็นเผยแพร่เนื้อหาแสดงออกถึงความรุนแรงชนิดเรียกร้องความสนใจ ด้วยการทำร้ายตัวเองแบบถ่ายทอดสดอีกต่างหาก

ที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนกำลังขาดแบบอย่างที่ดีของสังคม เพราะเห็นแต่ภาพความขัดแย้ง การใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา ทั้งในและนอกจอ ซึ่งหากเด็กขาดต้นทุนที่ดี และเห็นแต่การแสดงออกที่ไม่เหมาะสม จะทำให้สังคมเกิดเด็กสายพันธุ์ใหม่ มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ การใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา

ในต่างประเทศเรื่องการทำร้ายตัวเองถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีความกังวลว่าจะเกิดการลอกเลียนแบบ และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดกับพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย (Copycat Suicide) คือการที่คนๆ หนึ่งฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือเลียนแบบเหตุการณ์การฆ่าตัวตาย หรือภาพจำลองเหตุการณ์การทำร้ายตัวเองของคนที่เป็นที่รู้จัก รวมไปถึงคนในสื่อ เช่น ข่าวโทรทัศน์ เป็นต้น ในต่างประเทศเรียกว่าปรากฏการณ์แวเธ่อร์ (Werther Effect) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีการเพิ่มขึ้นของคนที่ฆ่าตัวตายหลังจากมีการนำเสนอข่าวสารในเรื่องการฆ่าตัวตายในคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ปัญหาที่ยังดำรงอยู่ก็ยังคงต้องหาทางแก้ไข แต่ไม่ว่าอย่างไรต้องไม่ใช้ความรุนแรงในทุกกรณี เพราะสุดท้ายเด็กและเยาวชนก็มักกลายเป็นเหยื่อเสมอ

ถ้าปัญหาแก้ไม่ได้ในวันนี้หรือได้ดั่งใจ ก็ต้องหาหนทางแก้ให้ได้ในวันหน้า โดยยึดหลักว่าหนทางที่เลือกไม่ใช่ไปสร้างปัญหาใหม่ !
กำลังโหลดความคิดเห็น