สสส.- จุฬาฯ - ม.ธรรมศาสตร์ เผยผลการศึกษาสถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย พบว่า มีแนวโน้มเร็วขึ้นกว่าในอดีต โดยมีปัจจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต กินหวาน-มัน-เค็ม ใช้เครื่องสำอาง ไม่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ เป็นเหตุให้เกิดภาวะเป็นสาวก่อนวัย ในขณะที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาและการดูแลตนเองทางด้านอนามัยเจริญพันธุ์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ ห้องประชุม Jamjuree Ballroom B, ชั้น M โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแถลงผลการศึกษา “สถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย” เพื่อเจาะลึกถึงสาเหตุปัจจัยและร่วมหาทางออก เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่พบทั่วโลกและส่งผลต่อภาวะสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาในระดับประชากรของสังคมไทยมาก่อน
ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลนักเรียนหญิงที่เป็นตัวแทนประเทศไทยจำนวน 8,161 ตัวอย่าง จาก 95 โรงเรียนพบว่า เด็กหญิงไทยเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยที่สุดที่อายุ 7 ปี อายุมากที่สุด 16 ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยกลางของการมีประจำเดือนอยู่ที่อายุ 11 ปี ซึ่งน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยก่อนหน้านี้ลงมาถึง 1 ปี
“ทีมวิจัยพบเด็กเข้าใจวิธีดูแลตัวเองช่วงมีประจำเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูง มีผลจากปัจจัยการเลี้ยงดูของครอบครัว และเนื้อหาวิชาเพศศึกษาในสถานศึกษาที่ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของการเป็นสาวของเด็กไทย ควบคู่กับ ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ เช่น การมีประจำเดือนครั้งแรกของมารดา ปัจจัยด้านกายภาพ เช่น ส่วนสูงไม่ถึงเกณฑ์ น้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป ระดับไขมันในร่างกาย มวลกล้ามเนื้อไม่สมดุล และปัจจัยด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เช่น การรับประทานขนม น้ำอัดลม ชา กาแฟ อาหารฟาสต์ฟูด หรืออาหารเสริม เช่น วิตามินต่างๆ และการใช้เครื่องสำอางเวชภัณฑ์ ส่งผลให้เด็กมีประจำเดือนครั้งแรกเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยความถี่ของการรับประทานไก่และไข่ไม่ได้ส่งผลให้เด็กมีประจำเดือนครั้งแรกเร็วขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการระบุค่ากลางของอายุการมีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กไทยและสถิติที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ มีเป้าหมายขับเคลื่อนสู่นโยบายให้กับหน่วยงานในระดับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็กหญิงไทยรวมถึงศึกษาปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางการบริโภค และปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการเป็นสาวก่อนวัยของเด็กไทย เพื่อแก้และลดความรุนแรงของปัญหา เช่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และปัญหาสุขภาพวัยรุ่น และพบข้อมูลน่าสนใจว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุ 8-9 ปี ใช้สิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการรักษา “ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร” ด้วยการใช้ “กดฮอร์โมน” ปีละ 400-500 คน มูลค่าการใช้ยาอยู่ที่ 58,668 บาท/คน
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ “การเป็นสาวก่อนวัย หรือ Early Puberty” เป็นประเด็นที่วงการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกให้ความสนใจเนื่องจากมีหลักฐานชี้ชัดว่าการเข้าสู่วัยสาวเร็วเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น สุขภาพจิต สุขภาพของระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม เป็นต้น การเข้าสู่วัยสาวเร็วขึ้นหรือการ “เป็นสาวก่อนวัย” จึงถือเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพ (determinant of health) ที่ สสส. ให้ความสำคัญเพราะหากเราสามารถปรับวิธีดูแลเด็กไม่ให้เป็นสาวก่อนวัย จะเท่ากับเราส่งเสริมให้เด็กมีฐานทุนชีวิตในด้านสุขภาพที่ดี พร้อมเจริญเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ลดอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อต่างๆ หรือ NCDs และโรคในระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ในอนาคต
“สสส. พบว่า งานวิจัยสถานการณ์การเริ่มเป็นสาวของเด็กหญิงในประเทศไทยที่สามารถนำมาอ้างอิงในระดับประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน ส่วนใหญ่จะสำรวจในระดับพื้นที่เท่านั้น จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนโครงการวิจัยในครั้งนี้ นอกเหนือจากเพื่อให้สังคมไทยมีฐานข้อมูลวิชาการที่เชื่อถือได้ในเรื่องนี้แล้ว สสส.มีความคาดหวังว่าผลวิจัยในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่สะกิดสังคมและผู้กำหนดนโยบายให้เกิดความตระหนักว่ายังมีเรื่องการเลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากภาวะเป็นสาวก่อนวัยเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ และร่วมมือกันวางมาตรการป้องกันและรับมือทั้งในระดับครัวเรือนและระดับสังคม เป็นการสร้างสุขภาพซึ่งคุ้มค่ากว่าการซ่อมสุขภาพเมื่อปัญหา” นางสาวณัฐยา กล่าว