เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ทรูไอคอนสยาม ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาคนพิการแห่งเดียวในประเทศ “เด็กพิการเรียนไหนดี ‘64” ตอน ปั้นฝันเป็นตัว มุ่งเพิ่มทักษะให้เด็กพิการได้เข้าถึงระบบการศึกษาเท่าเทียมเด็กทุกคน ส่งเสริมขับเคลื่อนสู่นโยบายระดับชาติ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ในปี 2563 พบคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษา 1,533,159 คน ในจำนวนนี้ศึกษาระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด1,249,795 คน รองลงมาได้แก่ ระดับชั้นมัธยมศึกษา 169,606 คน ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 35,085 คน ไม่ระบุการศึกษา 24,402 คน และอุดมศึกษา 21,220 คน จากผลสำรวจของภาครัฐ ชี้ให้เห็นว่าคนพิการได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังพบคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา 69,371 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยแวดล้อมในครอบครัวสภาพร่างกายที่อาจจะทำให้ผู้ดูแลมองว่าไม่เอื้อต่อการเรียน รวมถึงสถานะทางการเงินที่มีส่วนทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา
“ที่ผ่านมา สสส. พยายามส่งเสริม เพิ่มทักษะให้เด็กพิการทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมเหมือนเด็กทุกคนด้วยการสร้างความรู้ที่ตรงศักยภาพคนพิการ ให้มองเห็นเส้นทางที่ใช่ สู่ อาชีพที่ชอบ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เรียนรู้ไปจะสามารถทำให้คนกลุ่มนี้นำไปพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นรายได้มั่นคงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยที่ไม่รู้สึกแตกต่างจากคนอื่น” นางภรณี กล่าว
นางภรณี กล่าวต่อว่า สำหรับงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาเพื่อคนพิการ จัดขึ้นครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้ค้นหาตนเอง และวางแผนเลือกเรียนในโรงเรียน สถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับความต้องการ 2. เพื่อให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้เส้นทางการศึกษาต่อระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา 3. เพื่อให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้เทคนิคการเรียนและการสอบในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมถึงเส้นทางการประกอบอาชีพในอนาคตจากรุ่นพี่นักศึกษาพิการ และ 4. เพื่อให้ผู้ปกครองของนักเรียนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัวเลือกทางการศึกษาต่อเนื่องงานเชิงรุกที่ขับเคลื่อนการจ้างงานเชิงสังคมทำให้คนพิการสามารถเข้าสู่การมีอาชีพมีงานทำได้ จำนวนกว่า 7,000 อัตรา และสร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานแล้วกว่า 20,000 โอกาสงาน
“โจทย์ใหญ่ที่ สสส. ตั้งใจทำคือ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กที่พิการเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้กับเด็กทุกคนโดยสร้างพื้นที่ชุมชนออนไลน์ผ่านเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี” และกลุ่มFacebook “เด็กพิการอยากเรียนมหา'ลัย” โดยมุ่งพัฒนากลไกสนับสนุนการออกแบบ สร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ให้รองรับวิถีชีวิตคนพิการปีนี้ใช้ชื่อตอน “ปั้นฝันเป็นตัว” มีเป้าหมายให้คนพิการค้นหาตัวเอง เน้นแนะแนวทางการเรียน สอนวิธีสร้างแฟ้มสะสมงานให้น่าสนใจ พร้อมเผยเคล็ดไม่ลับเทคนิคตอบคำถามสัมภาษณ์ให้เด็กพิการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าปีที่ผ่านมามีเด็กพิการสนใจศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีร้อยละ 76 ที่เหลือสนใจวิชาสายอาชีพ ปวช.-ปวส. มากขึ้น” นางภรณี กล่าว
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า งาน “เด็กพิการเรียนไหนดีปี 64” ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนนับเป็นนวัตกรรมส่งเสริมการศึกษาเพื่อคนพิการที่ทันสมัย โดดเด่น เพราะ เน้นสร้างสังคมแบบ Inclusive มุ่งผลักดันความเท่าเทียมทางการเรียนรู้ เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งให้คือปั้นความฝันคนพิการให้เป็นความจริง โดยที่ไม่ทำให้ปัจจัยทางร่างกายหรือสติปัญญามาเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้
“การผลักดันให้คนพิการเข้าถึงระบบการศึกษา กระทรวงอุดมศึกษาฯ ตั้งใจขับเคลื่อนในระดับนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การมอบทุนสนับสนุนให้คนพิการได้ศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษามากขึ้นกว่าเดิมรวมไปถึงการช่วยกำกับ ดูแล ขอความร่วมร่วมมือมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชน ทั่วประเทศ มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม มอบโอกาสให้คนพิการได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงพิจารณาปรับอัตราเงินอุดหนุนคนพิการ ส่งเสริมคนกลุ่มนี้ได้เรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยเหมือนเด็กทุกคน” ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว
นางสาวธนัญชกร สันติพรธดา หรือ “น้องแอล” พิการทางการเห็น (ตาบอดสนิท) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา โดยใช้ความสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในระบบกลาง (Admission) ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันกับเด็กไม่พิการ กล่าวว่า เข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยมุ่งหวังอยากให้รุ่นน้องคนพิการได้รับความรู้เรื่องการสอบเข้าและการเรียนต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการ
“รู้สึกดีใจที่มีงานนี้เกิดขึ้นให้กับรุ่นน้องคนพิการ เพราะมองว่างานที่ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่คนพิการจริงๆ นั้นมีน้อยมาก และจะทำให้น้องๆ คนพิการได้รับความรู้จากงานนี้ไปเพิ่มมากขึ้นจริงๆ” นางสาวธนัญชกร กล่าว
สำหรับภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ บูธการรับเข้าและดูแลนักศึกษาพิการจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษากว่า 18 สถาบันกิจกรรมเวิร์คชอปปั้นฝันเป็นตัวการทำแฟ้มสะสมผลงานและเทคนิคการสอบสัมภาษณ์รวมถึงเพิ่มพลังใจจากการรับฟังรุ่นพี่นักศึกษาคนพิการด้านต่างๆ อาทิ ครูไอซ์ ดำเกิง มุ่งธัญญา, น้องธันย์ ณิชชารีย์เป็นเอกชนะศักดิ์เพื่อให้นักเรียนคนพิการได้รับข้อมูลด้านการศึกษาที่รอบด้านเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจวางแผนการศึกษาต่อที่ชัดเจนมากขึ้น