xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางท่องเที่ยว 10 จังหวัด หวังยกคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำคนพิการ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อความจำกัดทางด้านร่างกาย ส่งผลให้ประชากรกลุ่มเฉพาะต้องอยู่ในพื้นที่และสังคมที่จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาวะทางจิตใจในอนาคต ดังนั้น สสส. ในฐานะองค์กรที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งมีทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์ เพื่อคนทั้งมวลจัดตั้งงานเสวนา “ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ใน 10 จังหวัดนำร่องและพื้นที่เชื่อมโยง” เพื่อร่วมพูดคุยถึงการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการรณรงค์และสำรวจเพื่อให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยว สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม


โดยภายในงาน มีบุคคลสำคัญจากหลากหลายหน่วยงานมาร่วมพูดคุยทั้ง ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), คุณจารุเชฏฐ์ เรืองสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ,คุณกฤษณ์ ภูมิสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ อพท 3 รวมทั้งคุณกิตติ สืบสันติพงษ์ เลขานุการเครือข่ายทูตอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล โดยมีคุณกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มาและความร่วมมือกันในครั้งนี้ ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประธานในพิธี ชี้ให้เห็นว่า คนพิการ และผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ หรือการใช้บริการของรัฐได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต โดยโครงการนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตในโลกภายนอกได้อย่างอิสระ ลดความเหลื่อมล้ำ และมีความสุขยิ่งขึ้น

“โครงการนี้จะทำให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลต้นแบบจำนวน 10 เส้นทางในจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก พระนครศรีอยุธยา พังงา ราชบุรี นอกจากนี้ยังเกิดฐานข้อมูลเส้นทางบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลโดยมีเครือข่ายฑูตอารยสถาปัตย์ส่งเสริม กระตุ้น และติดตามผลการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกในทั้ง 10 พื้นที่และพื้นที่เชื่อมโยง”

นอกจากนี้ ดร. สุปรีดาฯ ก็หวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมถึงเกิดการขยายผลเพิ่มเส้นทางท่องเที่ยวให้ทั่วประเทศไทย

“แม้งานในวันนี้จะเป็นการจัดครั้งที่ 1 แต่ก็หวังว่า ในอนาคตตัวเลขตัวนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมกับขยายเครือข่ายของทูตในเรื่องอารยสถาปัตย์ให้กว้างขึ้น ซึ่ง สสส.เอง ก็ยินดีและพร้อมสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบาย รวมไปถึงโครงการดี ๆ ด้วยกันต่อไป”

คุณภรณี   ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เช่นเดียวกับ คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้กล่าวถึงปัญหาการเดินทางในประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งนับว่า เป็นปัจจัยหลักที่กีดขวางความสุขของคนกลุ่มนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญหรือในสิทธิ์ตามสากลต่างระบุไว้ว่า ทุกคนจะต้องมีสิทธิ์ในการเดินทางอย่างเท่าเทียมกัน โดย สสส. หวังว่าอนาคตอยากให้คนพิการ หรือผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้ด้วยตนเอง ในระบบขนส่งรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก

“หลายคนบอกว่า โครงการนี้ที่ สสส. เข้ามาสนับสนุนค่อนข้างห่างไกลจากคำว่า สุขภาพไปมากพอสมควร แต่เราก็ยังยืนยันในการตีความคำว่า สุขภาพในแบบกว้างตามนิยามของ WHO ที่ว่าด้วยการมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ รวมทั้งการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ซึ่งถ้าประชากรกลุ่มเฉพาะเจออุปสรรคต่าง ๆ สสส. ก็คิดว่า คนกลุ่มนี้คงไม่สามารถจะมีชีวิตที่มีความสุขได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง”
ก่อนกล่าวถึงบทบาทสำคัญในความร่วมมือครั้งนี้ไว้ว่า นอกจากจะร่วมเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เลือกเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่อง สสส. ยังพร้อมหนุนเสริมด้านวิชาการ ด้วยการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติในเชิงนโยบายให้มากขึ้น ก่อนร่วมผลักดันนโยบายและการสื่อสารสังคมที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย
“นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น อีกหนึ่งบทบาทสำคัญในครั้งนี้ คือการจัดตั้ง Universal Design Center ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยภูมิภาค ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นศูนย์ให้ความรู้กับประชาชน และเพื่อให้คำว่า อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและกว้างขึ้น”

คุณกฤษนะ   ละไล ในฐานะประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
ด้านคุณกฤษนะ ละไล ในฐานะประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ก็ได้กล่าวขอบคุณถึงความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์กรการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) และผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 10 จังหวัดนำร่อง ก่อนเปิดตัว Friendly Design Official Line ซึ่งเป็นระยะแรกในโครงการ ศูนย์รวมที่พร้อมตอบโจทย์ความต้องการต่าง ๆ ของผู้บริโภคทุกกลุ่มทุกวัย ทั้งข้อมูลโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งร้านอาหาร โดยเริ่มนำร่องใน 10 จังหวัดตามที่กล่าวมาข้างต้น

“แนวคิดหลักของการทำ Friendly Design Official Line คือหวังให้เขาสามารถที่จะเดินทางไปคนเดียวได้เลย ปลอดภัยทุกที่ ไม่ต้องกลัวว่าจะตกหล่น หรือถูกปล่อยเกาะที่ไหน อุ่นใจทุกการเดินทางเพียงแค่มีแอปพลิเคชันนี้เท่านั้น ซึ่งต่อไปในอนาคตเราคาดว่า จะทำข้อมูลให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศไทย อีกทั้งคาดว่า จะมีการให้บริการในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษและภาษาจีนด้วย”


ซึ่งในส่วนการลงพื้นที่ ด้านคุณกฤษนะ ละไลกล่าวเสริมว่า ขณะนี้มีการสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลไปแล้วหลายเส้นทาง ซึ่งสถานที่ต่าง ๆ มีความสามารถรองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทุกคนได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก ที่มีการปรับปรุงให้มีการออกแบบที่เป็นมิตร การสร้างทางลาดมาตรฐานที่ไม่ชันสำหรับวีลแชร์ และมีห้องน้ำอารยสถาปัตย์ที่มีประตูกว้างอย่างน้อย 80 เซนติเมตร มีราวจับ มีพื้นที่กว้าง เพื่อให้มนุษย์ล้อสามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง อย่างสะดวก สบาย และปลอดภัย

และแน่นอนว่า โครงการดังกล่าวไม่เพียงจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้พิการเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้สูงวัย และประชาชนทั่วไปเช่นกัน อีกทั้งยังถือว่า เป็นการร่วมกันส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งต่อไปในอนาคตโครงการนี้ยังสามารถต่อยอดและขยายตลาดการท่องเที่ยวไทยสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health&Welness Tourism) และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น