ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการสั่งสมบุญกุศล งดโอกาสในการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ ได้ฝึกวินัย ทั้งทางกาย จิต ปัญญา แต่เนื่องจากอาหารเจส่วนมากจะมีรสหวาน มัน และเค็มจัด ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าให้ลดการบริโภคโซเดียมลงให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือลดการบริโภคเกลือให้น้อยกว่า 5,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่คนไทยได้รับโซเดียม โดยเฉลี่ยสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน นำไปสู่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs เช่น ความดันโลหิตสูง ไต หัวใจ ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทย ราว 400,000 คนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 76 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และร้อยละ 50 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร การกินเจวิถีใหม่ เน้นรับประทานผักมากขึ้น ลดแป้งและของทอด และให้ความสำคัญกับสุขอนามัย ประกอบอาหารสุก คำนึงถึงความสะอาด ล้างมือก่อนและหลังปรุงอาหาร ใส่หน้ากากผ้า และรักษาระยะห่างเมื่อต้องต่อคิวซื้ออาหาร
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยรับประทานเกลือ 9,000 มิลลิกรัมกรัมต่อวันเกินกว่าที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า ที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมติดเค็มตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตมีอายุน้อยลงมากขึ้น จากเดิมที่เริ่มเป็นความดันอายุ 35 ปี และค่อยเป็นโรคไตช่วงอายุ 50 ปี ปัจจุบันเริ่มพบผู้ป่วยเป็นความดันที่อายุ 25 ปี พออายุ 35 ปีก็เป็นโรคไต ที่น่าจับตาคือช่วงเทศกาลกินเจมีอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย เป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี้ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง นอกจากนี้ยังพบอาหารที่มีความเค็ม เช่น พะโล้ ต้มจับฉ่าย ขนมจีนน้ำยากะทิ รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด
พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช คณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการเลือกอาหารเจเพื่อสุขภาพ ห่างไกลโรค NCDs โดยเฉพาะโรคอ้วนที่เด็ก เยาวชน และวัยทำงาน เป็นกังวล ควรเลือกรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน 5 หมู่ เน้นโปรตีนที่มาจากพืชให้ได้อะมิโนแอซิด (Amino Acids) ที่ครบถ้วน เพียงพอ และเลือกรับประทานอาหารเจด้วยรหัสสุขภาพ 2:1:1 คือ ในหนึ่งจานควรรับประทานผัก 2 ส่วน ข้าวไม่ขัดสี หรือข้าวกล้อง 1 ส่วน โปรตีนจากพืช 1 ส่วน และรหัส 6:6:1 ใช้กำหนดเครื่องปรุ่งในการประกอบอาหาร คือ น้ำมัน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำตาล 6 ช้อนชาต่อวัน เกลือ 1 ช้อนชาหรือซีอิ๊วขาวไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน สิ่งสำคัญที่ที่ควรงดร่วมกับการถือศีลคือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มเติมความหวานที่เพิ่มเติมจากอาหารมื้อหลัก เพราะให้พลังงานที่สูง ใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารที่มีสุขภาพดีแล้ว อย่าลืมเรื่องการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้คนไทยเห็นภาพและเข้าใจง่าย ๆ ถึงความเสี่ยงต่อโรค NCDs สามารถเข้าไปดูชุดสื่อการเรียนรู้ ‘Goodbye NCDs’ ได้ที่ http://goodbye-ncds.thaihealth.or.th/sook/