xs
xsm
sm
md
lg

วัคซีนกับผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อ.นพ.เอกภพ หมอกพรม
สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์

เป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ คือ การส่งเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการให้วัคซีนอย่างเหมาะสมในผู้สูงอายุถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เพราะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อที่ป้องกันได้ ลดความเจ็บป่วยและการนอนโรงพยาบาล บทความนี้จึงขอรวบรวมเนื้อหาเรื่องของวัคซีนที่จำเป็นกับผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจประโยชน์ของวัคซีนให้มากขึ้น

วัคซีนคืออะไร

วัคซีน คือ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทำจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ถูกทำให้อ่อนกำลังอย่างมาก หรือทำให้ตาย หรือสกัดบางส่วนของเชื้อ เพื่อนำมาให้เข้าสู่ร่างกาย หวังผลให้กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้รวดเร็วหลังจากมีภูมิคุ้มกันแล้ว
ประโยชน์ของวัคซีนในผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของภูมิคุ้มกันก็มีความเสื่อมถอยลงด้วย ผู้สูงอายุจึงเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อมากขึ้น เมื่อเกิดโรคติดเชื้อมักจะหายช้าหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนจึงได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยที่อาจจะยาวนานและรุนแรง

มีวัคซีนใดบ้างที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 

 
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่พบบ่อย และมักจะมีการระบาดช่วงฤดูฝน ซึ่งในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรังโรคเบาหวาน มักมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล การรับวัคซีนนี้จึงมีประโยชน์มาก เนื่องจากในแต่ละปีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจจะมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ และในทุกปีร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ลดลงด้วย จึงแนะนำให้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส

โรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Pneumococcal disease) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื้อจะติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสเชื้อเข้าสู่เยื่อบุจมูกหรือลำคอ ส่งผลให้เกิดโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน และหากเชื้อรุกรานมากขึ้น จะกลายเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแบบรุกราน (Invasive pneumococcal disease) หมายถึง เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชืเอแบบรุกรานได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว การรับวัคซีนนี้ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ 
 
สำหรับผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV-13) 1 ครั้ง และฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV-23) 1 ครั้ง ห่างกัน 1 ปี ส่วนผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและเคยได้รับวัคซีนมาแล้วให้พิจารณาฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิด 23 สายพันธุ์ กระตุ้น 1 ครั้ง

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด


โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส ซึ่งเชื้อเหล่านี้มักแฝงตัวโดยไม่ก่ออาการในปมประสาทบริเวณใกล้ไขสันหลัง เมื่ออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันที่ลดลงจะทำให้เชื้อเหล่านี้ ออกมาจากปมประสาทและเกิดการอักเสบตามแนวเส้นประสาท ทำให้เกิดตุ่มน้ำที่ผิวหนังและมีอาการแสบร้อน แม้ตุ่มน้ำจะหายแล้ว อาการแสบร้อนยังคงอยู่ได้เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เพื่อป้องกันโรคดังกล่าวจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนโรคงูสวัด 1 ครั้ง ในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป

วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก


โรคคอตีบ เป็นโรคคออักเสบรุนแรงจากแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อนี้จะสร้างแผ่นเยื่อขาวเกาะอยู่ที่คอหอย ทำให้เสียชีวิตจากทางเดินหายใจอุดกั้นหรือเสียชีวิตจากสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบ

โรคบาดทะยัก เกิดจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อนี้จะเจริญเติบโตได้ในบาดแผลลึก หรือแผลเน่าเปื่อย และสร้างสารพิษปล่อยเข้ากระแสโลหิต ทำให้เกิดภาวะชักเกร็งกล้ามเนื้อไม่ทำงานและหยุดหายใจได้ 

ช่วง 10 ปีมานี้มีรายงานการเกิดโรคคอตีบและบาดทะยักในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมากขึ้น แม้ว่าบุคคลส่วนหนึ่งจะเคยได้รับวัคซีนโรคคอตีบและบาดทะยักมาแล้วในวัยเด็ก แต่เมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะค่อยๆลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้และทั้งสองโรคมีอัตราการเสียชีวิตสูง เพื่อความปลอดภัยจึงควรกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยักทุก 10 ปี 

วัคซีนมีผลข้างเคียงหรือไม่ 

ผลข้างเคียงจากวัคซีนมักเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงและไม่ได้เกิดกับทุกคน เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีดยา หรือมีไข้ต่ำ เป็นต้น อาการเหล่านี้มักจะหายได้เองในเวลา 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม หากกำลังมีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน แนะนำว่าควรให้หายดีแล้วจึงมารับวัคซีนในภายหลัง

มีข้อจำกัดในผู้มีโรคประจำตัวหรือไม่

โดยทั่วไปผู้ที่มีโรคประจำตัวสามารถรับวัคซีนได้และได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน แต่หากมีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันควรขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อพิจารณารับเฉพาะวัคซีนชนิดไม่มีเชื้อหรือวัคซีนเชื้อตาย และหลีกเลี่ยงวัคซีนที่มีเชื้ออ่อนกำลัง เพราะผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ อาจติดเชื้อจากวัคซีนที่มีเชื้ออ่อนกำลังได้ หากท่านไม่มั่นใจว่าโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ทำให้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลประจำก่อนรับวัคซีนเพื่อความมั่นใจ

ทั้งนี้ หากท่านต้องการปรึกษาเรื่องวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ สามารถติดต่อได้ที่ หน่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันโรค รพ.ศิริราช ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 4 ห้อง 433 เปิดบริการวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 7.00-15.30 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือนัดหมายล่วงหน้า โทร. 0 2419 7387
กำลังโหลดความคิดเห็น