xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ด้วยฐานข้อมูลระบบดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้องบอกว่า นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับการร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง 4 ภาคี ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาของเด็ก เยาวชน รวมไปถึงระดับครอบครัว ที่นับว่าเป็นช่วงวัย และจุดริเริ่มสำคัญที่สุดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่อไป

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) จัดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาต้นแบบบริการร่วมระหว่างหน่วยบริการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน และครอบครัวด้วยดิจิทัล (Seamless Transaction Services)” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการร่วม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นต้นแบบบริการทางสังคมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชนและครอบครัว ต่อเนื่องตลอดช่วงวัย รวมทั้งการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน


โดยในปีแรกจะมีชานชาลา หรือการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ร่วมและส่งต่อบริการร่วมกันของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ให้บริการจากศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า คุณครูจากศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน 2. กลุ่มผู้รับบริการที่เป็นเด็กเยาวชนและครอบครัว และ 3. คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ที่เป็นกลไกร่วมจัดบริการ ซึ่งจะพัฒนาเป็นต้นแบบนวัตกรรมระบบดิจิทัลของเขตลาดกระบัง กทม. และทดสอบการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมทุกเขตต่อไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ กทม. พบว่า ปัจจุบัน กทม.มีโรงเรียนในสังกัด 300 แห่ง และมีนักเรียนกว่า 2 แสนคน มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัด กทม.ใน 50 เขต 298 ศูนย์ มีเด็ก 25,975 คน อีกทั้งยังมีเด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่เปราะบางในพื้นที่จำนวนมาก


นพ.ชวินทร์ ศิรินาค  ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  จากรายงานผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในเขตกรุงเทพมหานครจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ พบว่า เกือบ 1 ใน 6 (ร้อยละ 15.8) ของเด็กอายุ 0-17 ปี ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ในชุมชนของกรุงเทพมหานครมีเด็กที่กำพร้าพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่ ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 0.4 ที่พ่อหรือแม่อย่างน้อย 1 คนอาศัยอยู่ต่างประเทศ และเด็กอายุ 1-14 ปี ในชุมชนของกรุงเทพมหานครร้อยละ 73.1 ถูกอบรมด้วยการทำร้ายจิตใจหรือร่างกายในช่วง 1 เดือนก่อนการสำรวจ

“เราให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องใน กทม. ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจนอย่างที่ทุกคนทราบกันดี โดยขณะนี้ภารกิจของเราก็มีความหลากหลายมิติและหนึ่งประเด็นที่สำคัญก็คือเรื่องการดูแลสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นเด็กอ่อนประถมวัยหรือวัยศึกษา และแน่นอนว่า เราก็พบปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของข้อมูล  เนื่องจากมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลเด็กกลุ่มนั้นๆ ทำให้การเชื่อมร้อยข้อมูลเพื่อส่งต่อจากหน่วยงานหนึ่งไปยังหน่วยงานหนึ่งยังไม่เรียบร้อย และคล่องตัวเท่าที่ควร”

“ดังนั้น จึงถือได้ว่า โครงการนี้จะเป็นการพลิกโฉมบริการครั้งใหญ่ จากที่เคยแยกส่วนกันต่อจากนี้ก็ให้เกิดเป็นองค์รวม สามารถดูแลต่อเนื่องตลอดช่วงวัย ตั้งแต่ฝากครรภ์  เด็กแรกเกิด เข้าสู่ศูนย์เด็กเล็ก เด็กอนุบาล เด็กและเยาวชนในวัยเรียน  จนถึงวัยรุ่น อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพตามวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี ตามวิสัยทัศน์ “มหานครสุขภาพดี ทุกชีวีแข็งแรง”


เช่นเดียวกับ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่คาดหวังว่า โครงการนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับประชาชน และสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ ก่อนเน้นย้ำถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนโครงการอย่างเต็มความสามารถ

“ทาง สพร. จะนำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบูรณาการข้อมูล การจัดทำมาตรฐานข้อมูล หรือการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาร่วมในโครงการนี้ ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ ก็คือ การที่เราจะแก้ไขข้อมูลที่มีการจัดเก็บซับซ้อน และมีมาตรฐานจัดเก็บที่ต่างกัน ให้สามารถเก็บได้หลายหน่วยงาน แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และก็การคุ้มครอง ความเป็นส่วนตัวของบุคคลที่เข้ามาร่วมในการรับบริการจากภาครัฐด้วย”


ด้าน นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวย้ำถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า โครงการนี้มุ่งพัฒนาต้นแบบระบบการบริหารงานแบบใช้ร่วมกันของหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดบริการ (Shared Service) ทางสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ และการคุ้มครองสิทธิ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวเปราะบาง ซึ่งนับได้ว่า เป็นการทำงานเชิงรุก กับเหตุปัจจัยต้นน้ำก่อนที่เด็กและเยาวชนจะเกิดปัญหาหรือวิกฤตในชีวิต ในขณะเดียวกันก็มีระบบดูแลช่วยเหลือส่งต่อเด็กและเยาวชนที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตด้วยเช่นกัน

“สถานการณ์ปัจจุบันสังคมไทยถือได้ว่า เป็นสังคมสูงวัย มีผู้สูงวัยในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติก็มีมากขึ้นอย่างที่เราได้ทราบกัน หลายๆ ประเทศในโลกตอนนี้ก็ใช้การลงทุนในเด็กเป็นหนทางในการที่จะแก้โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ แก้โจทย์เรื่องการพัฒนาประเทศ รวมถึงการแก้โจทย์เกี่ยวกับสังคมสูงวัย และเราคงไม่มีทางเลือกอื่นดีไปกว่าการลงทุนในเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งข้อดีของโครงการนี้ก็คือจะทำให้การพัฒนาเด็กคนหนึ่งมีความต่อเนื่อง และต่อให้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในช่วงหนึ่ง มันก็จะสามารถทำให้เด็กได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม”


พร้อมทั้งกล่าวถึงความคาดหวังในครั้งนี้ ว่า เมื่อโครงการประสบความสำเร็จในพื้นที่นำร่องแล้ว ก็หวังให้มีการขยายผลต้นแบบไปสู่เด็กและเยาวชนต่างจังหวัดต่อไป รวมไปถึงสามารถนำอีกหลายๆ โครงการที่ สสส. ดูแลอยู่ มาบูรณาการร่วมกันได้

“ที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. 3 แห่ง คือ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนแป้นรักษา และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพิทักษา โดยสนับสนุนการพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กปฐมวัยของศูนย์ฯ เครื่องมือสำหรับพัฒนาคุณภาพศูนย์ฯ และพัฒนาสมรรถนะอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ดังนั้น คาดหวังว่าผลงานนี้จะช่วยอุดช่องว่างการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพราะมุ่งให้ทุกฝ่ายทำงานบนข้อมูลชุดเดียวกันของผู้ใช้บริการแบบไร้รอยต่อ”

“ในครั้งนี้ สสส. เข้ามามีบทบาทด้านการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ร่วมไปถึงให้การสนับสนุนเรื่องการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย เรามองว่า แม้มีการใช้พื้นที่เพียงเขตเดียวนำร่อง แต่ว่าหากถูกพัฒนาและใช้ได้ผล มันจะสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นต่อไป สสส. ก็ต้องเตรียมการหารือเพื่อที่จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป”


ด้าน นายธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) ก็ได้กล่าวด้วยความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกับขับเคลื่อนการแก้ปัญหา และถือว่าโครงการนี้เป็นอีกจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราโฟกัส คือ สุขภาวะที่ดี ดังนั้น เราจึงต้องสร้างการพัฒนาที่มาจากสุขภาวะของประชาชนอย่างแท้จริง และในวันนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างอันดี ที่ได้ใช้เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งตัวชี้วัดสำคัญของโครงการนี้ก็คืออยากเห็นเด็กมีสุขภาวะที่ดี และสุขภาวะที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เรามีความรู้เกี่ยวกับตัวเด็กว่า เขามีสภาวะอย่างไร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อเขาเป็นแบบไหน นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไม สวน. ถึงได้เข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ และขอร่วมเรียนรู้ไปด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้ว สุขภาวะก็คือเป้าหมายสำคัญสุดท้ายของการพัฒนาประเทศนั่นเอง”


กำลังโหลดความคิดเห็น