xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมาตรการ ศบค.ไฟเขียว 6 กลุ่มบุคคล “นักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เข้าไทย เริ่มปลายเดือน ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศบค. ผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติ 6 กลุ่ม เข้าประเทศไทยได้ “กลุ่มนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยว” เริ่มปลาย ก.ย.นี้ แต่ยังคงมาตรการกักตัว เผย ผ่อนคลายเพื่อสมดุลประเทศ มั่นใจโควิด-19 ไม่แพร่ระบาด

วันนี้ (28 ก.ย.) รายงานจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า กรณีที่ที่ประชุม ศบค.รับทราบและเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายให้กลุ่มชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและประสงค์จะพำนักในประเทศไทยระยะกลางและระยะยาว รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจที่ขอเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอนั้นแบ่งเป็น1.มาตรการผ่อนคลายระยะที่1ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2563

ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ถือการตรวจลงตรา (วีซ่า) แบบ Non-Immigrant “O-A” สำหรับชาวต่างชาติที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเข้ามาเพื่อพักผ่อนโดยไม่ประสงค์ประกอบอาชีพพำนักในไทยได้ 1 ปี ต้องแสดงสำเนาบัญชีเงินฝาก (Bank Statement) ของธนาคารในประเทศไทยและมีจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 800,000 บาท
กลุ่มที่ 2 ผู้ถือวีซ่าแบบ Non-Immigrant “O-X” พำนักระยะยาว 5 ปี สำหรับชาวต่างชาติที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีสัญชาติและถือหนังสือเดินทางของ 14 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา หรือ สหรัฐอเมริกา ต้องแสดงสำเนาบัญชีเงินฝากในธนาคารในไทย และมีจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท

โดยผู้ที่อยู่ใน 2 กลุ่มนี้ จะต้องไม่มีประวัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคงทั้งต่อไทยและประเทศที่ตัวเองมีสัญชาติ หรือมีถิ่นพำนักถาวร รวมถึงไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 14 อีกทั้งต้องมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในไทย ซึ่งมีจำนวนเงินประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาทและกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท โดยชาวต่างชาติส่วนนี้สามารถยื่นคำขอวีซ่าในประเทศที่ตัวเองมีถิ่นพำนัก

กลุ่มที่ 3 นักธุรกิจต่างชาติที่ถือบัตรเอเปก (APEC Business Travel Card) มีระยเวลาพำนักในไทยได้ 60-90 วัน และไม่สามารถขยายอายุได้ โดยจะนำร่องบุคคลที่มาจาก 8 ประเทศ หรือเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และ ฮ่องกง


ทั้งนี้ ชาวต่างชาติใน 3 กลุ่มดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขของไทยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกักตัว 14 วัน ในสถานกักกันตัวแบบทางเลือกตามที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine - ASQ)
มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 2 จะเริ่มวันที่ 9 ต.ค. 2563 ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ 1. ผู้ถือวีซ่า Non-Immigrant รหัส B สำหรับผู้ที่เข้ามาติดต่อหรือประกอบธุรกิจและการทำงานในประเทศไทยที่ไม่เข้าเงื่อนไขมีใบอนุญาตทำงานสามารถพำนักในไทยได้นาน 90 วัน 2. ผู้ถือวีซ่า Non-Immigrant รหัส EX ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านช่างฝีมือพำนักได้ 90 วัน 3. ผู้ถือวีซ่า Non-Immigrant รหัส RS เป็นกลุ่มนักวิจัยค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ หรือผู้ฝึกสอนในสถาบันการศึกษาในราชอาณาจักรพำนักได้ 90 วัน 4. กลุ่มผู้ถือวีซ่าประเภทท่องเที่ยวรหัส TR เป็นผู้ที่พำนักในประเทศไทยระยะสั้น หรือยาว แต่ต้องแสดงสำเนาบัญชีเงินฝากไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท สามารถพำนักในไทยได้ 60 วัน

สำหรับกรณีที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายสำหรับชาวต่างชาติชนิดพิเศษ หรือ STV คาดว่า จะเริ่มภายในเดือน ต.ค.โดยหลังจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะต้องแจ้งเรื่องไปยัง ตม.ของประเทศต้นทางทั่วโลกให้รับทราบเพื่อประชาสัมพันธ์ในรับทราบต่อไปขณะที่ฝ่ายไทยโดยกระทรวงมหาดไทยกำลังจัดทำประกาศกระทรวงในเรื่องนี้ และเตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นอกจากนี้ ผู้ที่ถือวีซ่า STV จะต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงหรืออัตราการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำ มีหลักฐานการชำระค่าที่พักหรือสำเนาโฉนดกรรมสิทธิ์ห้องชุดของตัวเองหรือคนในครอบครัวหลักฐานกรมธรรม์ประกันสุขภาพ โดยผู้ร้องขอวีซ่าดังกล่าวจะยื่นหลักฐานดังกล่าวพร้อมคำร้องต่อสถานเอกอัครราชทูตไทยสถานกงสุลใหญ่ไทย หรือสำนักงานการค้าของไทยในประเทศนั้นๆ โดยวีซ่านี้ใช้สำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทยได้เพียงครั้งเดียวและสามารถขยายเวลาพำนักได้ไม่เกิน 2 ครั้งครั้งละ 90 วัน รวมเวลาพำนักสูงสุดได้ไม่เกิน 270 วัน

สำหรับมาตรการผ่อนคลายทั้งหมด มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะยังคงมาตรการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน อย่างไรก็ตาม กรณีที่มาตรการผ่อนคลายนี้ จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย.นี้ เพราะตรงกับช่วงไฮซีซันของประเทศแถบยุโรป โดยเชื่อว่า หากมาตรการนี้ประสบความสำเร็จ โดยไม่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศเพิ่มขึ้นก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยได้


กำลังโหลดความคิดเห็น