นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกระบวนการนำคนไทยและชาวต่างชาติเข้าประเทศไทย ว่า กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน และเป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยคำนึงถึงมาตรการด้านสาธารณสุขของไทย และจำนวนคนเดินทางเข้าประเทศให้สอดคล้องกับจำนวนสถานกักกันของรัฐที่รองรับได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ที่มีมาตรการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจลงตราให้กลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มผู้พำนักระยะยาว (Long Stay) กลุ่มผู้นักธุรกิจต่างชาติที่ถือบัตรเอเปก (APEC Business Travel Card) จาก 10 เขตเศรษฐกิจที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ในอัตราต่ำ กลุ่มผู้ที่มาติดต่อธุรกิจระยะสั้นและลงทุน กลุ่มผู้ที่มาพำนักระยะสั้น-ยาว ที่มีหลักทรัพย์แสดงไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท และ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ขอรับการตรวจลงตราประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ช่วยขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย
นายณัฐภาณุ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเรื่อง ST Visa นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 กระทรวงการต่างประเทศได้ปรับระบบการตรวจลงตรา (วีซ่า) และระบบตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วีซ่า)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกทราบถึงแนวปฏิบัติ และสั่งการให้ตรวจลงตราแบบ STV ได้ ส่วนข่าวเกี่ยวกับความล่าช้าในกระบวนการนำนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV กลุ่มแรกจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยนั้น สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับแจ้งรายชื่อกลุ่มดังกล่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวชาวจีนไปยื่นเอกสารขอวีซ่าประเภทนี้ที่สถานกงสุลใหญ่ไทยฯ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้รับแจ้งว่าอาจมีการร่วมใช้เครื่องบินเที่ยวบินพิเศษเคลื่อนย้ายคนไทยกลับประเทศ (Repatriation Flight) ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ เพื่อนำนักท่องเที่ยวจากจีนเข้าสู่ไทย ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศจะหารือกับฝ่ายจีนต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองเข้าประเทศ (ซีโออี) ให้ชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจ เข้าประเทศไทยแล้วกว่า 22,000 คน อาทิ กลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงาน ครู นักเรียน คู่สมรสคนไทย ผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจ ผู้ป่วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศตระหนักดีถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเร่งรัดนำคนต่างชาติเข้าประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยล่าสุดได้จัดทำระบบซีโออี ออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการออกหนังสือรับรองเข้าราชอาณาจักรไทย และมีการประสานงานกันทั่วโลก ซึ่งได้เริ่มใช้นำร่องไปแล้วในสหราชอาณาจักร ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้เจรจากับสายการบินต่างๆ เพื่อจัดให้มีเที่ยวบินในลักษณะกึ่งพาณิชย์ (Semi-Commercial) ซึ่งครอบคลุมจุดศูนย์กลางการบินที่สำคัญทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น