xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ 4 ศิลปินรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ คว้ารางวัลยอดเยี่ยมศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 35

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศิลปะเป็นตัวสะท้อนประวัติศาสตร์ ถ้าย้อนดูหัวข้อในการจัดประกวด มันสะท้อนประวัติศาสตร์ของประเทศ ของสังคม รวมไปถึงแนวคิดของคนในช่วงเวลานั้นๆ เช่นเดียวกับปีนี้ เมืองเล็ก เมืองใหญ่ หายใจเต็มปอด สะท้อนถึงสิ่งแวดล้อม จากปัญหาฝุ่น PM 2.5 เราไม่กล้าพูดว่า เวทีนี้คือเวทีที่สร้างศิลปิน แต่เราภูมิใจที่อย่างน้อยเป็นเวทีทางผ่าน เพื่อให้ก้าวสู่ความสำเร็จในวงการศิลปะ”

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยถึงความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของเวทีเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน รวมถึงคนรักศิลปะทุกระดับ ได้สร้างสรรค์ผลงาน และสื่อสารมุมมองปัญหาสังคมผ่านงานศิลป์ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 35 ภายใต้หัวข้อ “เมืองเล็ก เมืองใหญ่ หายใจเต็มปอด” เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ ของเมืองในระยะยาว

สำหรับการประกวดในปีนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประชาชนทั่วไป และระดับเยาวชน รวม 3 กลุ่มอายุ ได้แก่ กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี กลุ่มอายุ 9-13 ปี และกลุ่มอายุ 14-18 ปี โดยมีเยาวชนและศิลปินกว่า 542 คน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 588 ชิ้น มีคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและได้รับการยอมรับในวงการศิลปะร่วมกันพิจารณาตัดสินรางวัล อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ กำจร สุนพงษ์ศรี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร และ ศาสตราจารย์ ญาณวิทย์ กุญแจทอง เป็นต้น


สุรศักดิ์ สอนเสนา หรือ “ปี้ด” อายุ 33 ปี ผู้คว้ารางวัลยอดเยี่ยมระดับประชาชนทั่วไปในชื่อผลงาน “ห่มเมือง (ขอนแก่น)” ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า สังคมเมืองมีการพัฒนาฉันใด อยากเห็นธรรมชาติพัฒนาไปด้วยฉันนั้น ห่มเมืองในความหมายที่ต้องการจะสื่อ อยากให้สังคม ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้รับการปกป้องทั้งทางจิตใจและทางกาย โดยมีดอกไม้เป็นตัวห่มล้อม


“ห่มเมืองอาจไม่ได้เป็นในลักษณะของต้นไม้ ใบไม้ แต่ที่จะสื่อคือลักษณะของดอกไม้ (ดอกราชพฤกษ์) ช่วยห่มล้อมทางใจ ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานแม่พิมพ์แกะไม้ ความยากของมัน คือ ใช้สิ่วแกะไม้ให้เป็นลวดลายที่ละนิดๆ เช่น นก ดอกไม้ เป็นรูปทรงต่างๆ ต้องลงน้ำหนักให้เหมาะสม แกะออกมาให้เห็นวิวระยะใกล้ ระยะใกล้ และต้องใช้เวลาพอสมควร ประมาณเดือนกว่าๆ ครับ” ปี้ดบอกเล่าถึงผลงาน

ทางด้าน ด.ญ.พิชาพัทธ์ ชินมหาพิพัฒน์ หรือ “เพลง” หนูน้อยวัย 6 ขวบ จากโรงเรียนสาธิตพัฒนา ผู้คว้ารางวัลยอดเยี่ยมระดับเยาวชนอายุต่ำกว่า 9 ปี เปิดใจถึงผลงานในชื่อ “แม่รักษ์ต้นไม้” ว่า ปัญหาฝุ่นควันในเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของภาพวาดที่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อม และอยากให้ช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อสร้างอากาศดีๆ ในสังคมที่เราอยู่


สำหรับความยากในการวาดนั้น คือ การวาดให้เหมือนของจริง โดยภาพนี้ใช้สีชอล์ก และสีน้ำสร้างสรรค์งานศิลปะออกมาเป็นรูปผู้หญิงที่อยากถ่ายทอดให้รู้ว่า นี่คือ คุณแม่ที่รักษ์ต้นไม้ และเป็นคุณแม่ที่เธอรักมากที่สุด

“เพราะแม่เป็นผู้หญิงที่หนูรักมากที่สุดค่ะ” น้องเพลงตอบคำถามถึงที่มาของชื่อผลงานชิ้นนี้ โดยมีคุณแม่ยืนให้กำลังใจอยู่ข้างๆ ก่อนจะบอกต่อไปว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นพยาบาล และจะนำความชอบด้านการวาดรูปไปใช้อธิบายให้คนไข้เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ”

ด.ช.ธนวัฒน์ เจิมวรรธนะ หรือ “ข้าวปั้น” อายุ 12 ปีจากโรงเรียนดอนบอสโกวิทยา จ.อุดรธานี ผู้คว้ารางวัลยอดเยี่ยมระดับเยาวชนอายุ 9-13 ปี เปิดใจถึงผลงานในชื่อ “ชีวิตสีเขียว” ว่า เป็นสื่อผสมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตชาวสวนยางของคุณตาคุณยายที่เมืองเลย นอกจากนั้น ยังมีบ่อเลี้ยงปลาที่สามารถกระโดดน้ำเล่นได้ ส่วนตัวชอบชีวิตแบบนั้นมาก เพราะให้ความสดชื่น นำมาสู่การผสมผสานในผลงานชิ้นนี้ โดยหุ่นที่ทำจากโฟมในโครงเหล็กคือตัวแทนของเขา เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์พืชที่กำลังเจริญเติบโตท่ามกลางโลกสมัยใหม่ที่วาดฝันอยากให้เป็นโลกสีเขียว เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น รถพลังงานสะอาด โรงงานพลังงานทดแทน เป็นต้น


“ความยากคือการดัดลวด มันจะดีดมือ ตอนทำคุณพ่อจะคอยช่วยจับครับ อย่างอื่นเช่น ตัดโฟม แกะโฟม ไม่ยากครับ ผมทำเองหมด ใช้เวลาเดือนกว่าๆ ช่วงโควิดสร้างสรรค์ผลงานออกมา และอนาคตถ้ามีโครงการดีๆ แบบนี้อีกผมก็อยากทำไปเรื่อยๆ ครับ ส่วนอนาคตผมอยากเป็นแพทย์ทหารครับ” น้องข้าวปั้นเผย

ปิดท้ายกันที่ ด.ญ.กัลยณัฏฐ์ โอษธีศ หรือ “พร้อม” อายุ 14 ปี จากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร กรุงเทพมหานคร
ผู้คว้ารางวัลยอดเยี่ยมระดับเยาวชนอายุ 14-18 ปี เธอเปิดใจถึงผลงานในชื่อ “ปลูกอากาศ” ว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ปีที่แล้ว ด้วยความเป็นเมืองทุนนิยม แต่ให้ความสำคัญกับต้นไม้อย่างมาก แม้จะอยู่กันบนตึกสูงๆ ก็สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ เช่นเดียวกับประเทศไทย ทุกคนมีส่วนช่วยกันปลูกอากาศ โดยเริ่มจากพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในชุมชน ห้างร้าน หรือคอนโดฯ ถ้าช่วยกัน สังคมก็จะมีอากาศที่ดีต่อใจและดีต่อปอด


“ผลงานชิ้นนี้เป็นสื่อผสมค่ะ ความยากอยู่ตรงที่การตัดกระดาษ และการวาดรูปที่ต้องใช้ความละเอียดอย่างมาก โดยเฉพาะความละเอียดของต้นไม้ต้นเล็กๆ กว่าจะเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ หนูใช้เวลาเกือบๆ 2 เดือน ให้กับเวลากับมันตั้งแต่ 6 โมงถึง 5 ทุ่ม แม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุขค่ะ ส่วนตัวชอบวาดรูป ออกแบบค่ะ โตขึ้นก็อยากมุ่งไปทางด้านสถาปนิกค่ะ” น้องพร้อมเผยด้วยแววตามุ่งมั่น

แม้บางคนจะค้นพบตัวเองและมุ่งเอาดีด้านศิลปะ ในขณะที่บางคนมุ่งสู่อาชีพที่ตัวเองอยากเป็น แต่เชื่อเหลือเกินว่า “ศิลปะ” ที่อยู่ในสายเลือดจะช่วยหล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีหัวใจอันอ่อนโยน ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหน หรืออยู่ในอาชีพใดก็ตาม

ผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้ที่ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ได้ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น