คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผย การออกแบบโครงการหลักสูตรการตลาดนานาชาติ ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด สามารถผลิตนิสิตสู่ตลาดแรงงาน รับแนวการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการตลาดยุคใหม่ หลังวิกฤตโรคระบาดได้ทันเวลา จับมือพันธมิตรด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยดังทั่วโลก ร่วมโค้ชชิ่ง สร้างศักยภาพแก่นิสิต เน้นการเรียนการสอนแบบไฮบริด และปลดล็อกข้อจำกัดการเลือกลงวิชาเรียน
ดร.ไพฑูรย์ เจตธำรงชัย ประธานโครงการหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด (หลักสูตรนานาชาติ) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ด้วยตลาดแรงงานในปัจจุบันมีความต้องการบุคลากรด้านการตลาดในอัตราที่สูงมาก เนื่องจากมีการขยายตัวของบริษัทต่างชาติทั่วโลก เข้ามาสู่ตลาดในเอเชียมากขึ้น องค์กรเหล่านี้ นอกจากจะต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาการตลาดแล้ว ยังต้องการผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสารในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลได้ด้วย ดังนั้น โครงการหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด (หลักสูตรนานาชาติ) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ถูกออกแบบพิเศษมาเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาในประเทศไทย ได้มีโอกาสเรียนรู้ ได้ประสบการณ์และพัฒนาทักษะด้านการตลาดสมัยใหม่ (Digital Transformation) ซึ่งมีความแตกต่างจากหลักสูตรที่มีอยู่เดิมโดยสิ้นเชิง
ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่สนใจของเด็กไทยที่เรียนในโรงเรียนอินเตอร์เนชั่นแนลเท่านั้น แต่ยังดึงเอาเด็กไทยที่เรียนไฮสคูลในต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามาเรียนในไทยอีกด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีเด็กจากประเทศต่างๆจากทั่วโลกสมัครเข้ามาเรียนแบบเต็มเวลาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของการพัฒนาหลักสูตรนี้ ขณะนี้โครงการนี้ได้ก้าวสู่ปีที่ 5 แล้ว หลักสูตรดังกล่าวได้ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ new normal ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้รูปแบบธุรกิจการตลาดเปลี่ยนไปจากเดิม แม้ด้านการศึกษาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เราจำเป็นต้องเพิ่มการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น เราได้มีการพัฒนาโปรแกรม และ แพลตฟอร์มของเราขึ้นเอง เพื่อให้การเรียนการสอนแบบออนไลน์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีนิสิตบางคนต้องการเข้ามาเรียนในชั้นเรียนมากกว่า เชื่อว่า การศึกษาในอนาคตคงเป็นในลักษณะลูกผสม หรือที่เรียกว่า Hybrid แบบนี้ต่อไปอีกนาน
“การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหลังจากมีโรคระบาดเกิดขึ้น บริบทของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้เราเกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมากขึ้น โดยในวันนี้เราสามารถเข้าถึงโปรเฟสเซอร์ด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วโลกจาก อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และ สวิตเซอร์แลนด์ มาร่วมให้ความรู้และสร้างประสบการณ์ให้แก่นิสิตมากขึ้น โดยใช้การสอนผ่านออนไลน์ โดยมีวิชาทางด้านการตลาดที่สำคัญๆ ให้ลงเรียนได้ โดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องลงเรียนวิชานี้เท่านั้น นิสิตของเราสามารถเลือกลงวิชาเลือกได้เองว่า ต้องการเรียนสาขาวิชาที่ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการ หรือ เลือกลงวิชาที่เข้ากับทักษะที่ตนเองต้องการ หรือ จะพิจารณาเลือกจากสาขาวิชาที่ตนเอง คิดว่าเป็นสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการในอนาคตได้ อาทิ AI in Marketing, Applied Business Analytic, Digital Marketing Strategic, Idea to Innovation, Leading in Crisis รวมถึง Marketing analytic : Decision Making Using Data หลักสูตรการเปิดกว้างแบบนี้เราคิดว่าจะเป็นการเรียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
ดร ไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า ในโครงการดังกล่าวยังมีโปรแกรมการสร้างประสบการณ์ให้นิสิตด้วยการแลกเปลี่ยนเป็น Exchange Program แต่หลังจากโรคระบาดเกิดขึ้น การเดินทางคงเป็นไปได้ยาก เราจึงได้พัฒนาเพิ่มหลักสูตรโดยให้ ให้นิสิตของเราสามาลงเรียนในมหาวิทยาลัยดังๆ อาทิ MIT, Oxford, Cambridge นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมให้มีการทำ Internship ในลักษณะเป็น Virtual จาก Marketing Lab ทั่วโลก ได้รับการโค้ชชิ่งจากนักการตลาดในบริษัทต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรกับเราทั่วโลกพร้อมกับมีเครื่องมือให้ฝึกทักษะการวางแผนการตลาดในรูปแบบ Marketing Simulation ช่วยให้นิสิตมีความแม่นยำในการวางแผนการตลาดมากขึ้น รู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นสามารถคำนวณผลลัพธ์ได้แม่นยำขึ้น
“ตัวชี้วัดความสำเร็จในโครงการนี้ ในเบื้องต้น คือ การที่นิสิตได้ความรู้ เลือกเรียนตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งอนาคตข้างหน้านักศึกษาจะได้ลงลึกด้านการตลาด และรายละเอียดต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศด้วย โดยเฉพาะการได้ประสบการณ์ในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลจริงๆ และเมื่อจบมาก็สามารถเข้าทำงานด้านการตลาดในบริษัทอินเตอร์ชั้นนำต่างๆ ได้ และเชื่อว่า อนาคตข้างหน้าหลักสูตรนี้จะได้รับการยอมรับได้ Certify จากสถาบันในระดับสากล อาทิ Equis Accreditation หรือ IS AACSCB Accreditation ต่อไป” ดร.ไพฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย