ศบค. เผย ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 5 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมด เป็นชายไทยกลับจากญี่ปุ่น ปากีสถาน และ บาห์เรน ชายอิหร่านเดินทางมาจากกาตาร์ และชายชาวอังกฤษเดินทางมาจากซาอุดีอาระเบีย เข้าพักในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ โดยมี 2 รายติดซ้ำเป็นรอบที่ 2
วันนี้ (15 ก.ย.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าพักใน State Quarantine ทั้งหมด เป็นชายไทยมาจากญี่ปุ่น 1 ราย ปากีสถาน 1 ราย และ บาห์เรน 1 ราย ชายสัญชาติอิหร่าน เดินทางมาจากกาตาร์ 1 ราย และชายสัญชาติอังกฤษเดินทางมาจากซาอุดีอาระเบีย 1 ราย
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,480 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,445 ราย และตรวจพบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จำนวน 542 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,315 ราย ส่วนผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 107 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
นอกจากนี้ วันที่ 15 ก.ย. 63 ถือว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตติดต่อกันเป็นระยะเวลา 105 วัน และไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ส่วนรายละเอียดของมีผู้ติดเชื้อ 5 คนในวันนี้ เป็นคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเข้า State Quarantines กักตัว 14 วัน ได้แก่
1. ชายไทยอายุ 33 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางกลับจากญี่ปุ่น ถึงไทยวันที่ 09/09/63 เข้า State Quarantines ที่ ชลบุรี ตรวจเจอเชื้อในการตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 12/09/63 (Day 3) พบเชื้อ ไม่มีอาการ
2. เป็นชายไทย อายุ 23 ปี นักศึกษา เดินทางจากปากีสถานถึงไทยวันที่ 13/09/63 ผ่านการคัดกรองโรค ณ ด่านควบคุมโรค สนามบินสุวรรณภูมิ พบอาการเข้าข่ายสอบสวนโรค (PUI) คือ มีน้ำมูกและอาเจียน จึงตรวจหาเชื้อวันที่ 13/09/63 (Day 0) พบเชื้อ
3. ชายสัญชาติอิหร่าน อายุ 35 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว เดินทางจากกาตาร์ถึงไทยวันที่ 13/09/63 เข้า Alternative. Hospital Quarantines ที่กรุงเทพฯ ตรวจเจอเชื้อในการตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 13/09/63 (Day 0) พบเชื้อ ไม่มีอาการ
4. ชายไทยอายุ 63 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางกลับจากบาห์เรนถึงไทยวันที่ 30/08/63 (เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 1 คน) เข้า State Quarantines ที่ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 14/09/63 (Day 14) พบเชื้อ โดยมีประวัติเคยติดเชื้อโควิด เมื่อเดือน มิ.ย. 63
5. ชายสัญชาติอังกฤษ อายุ 40 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางจากซาอุดีอาระเบีย ถึงไทยวันที่ 01/09/63 เข้า Alternative State Quarantines ที่กรุงเทพฯ ตรวจเจอเชื้อในการตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 13/09/63 (Day 12) พบเชื้อ โดยมีประวัติเคยติดเชื้อโควิด เมื่อเดือน พ.ค. 63
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การที่ประเทศไทยสามารถติดตามผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วทำให้จำกัดวงการแพร่ระบาดได้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนร่วมมือลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ผ่านแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้บริการแล้ว 44,884,100 คน โดยมีกิจการร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วม จำนวน 288,824 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือของประชาชนที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่น นอกจากจะช่วยป้องกันโรคโควิด 19 ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ และโรคติดต่อทางเดินอาหารด้วย จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่ เดือนมกราคม – สิงหาคม 2562 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 250,886 ราย เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งในช่วงเดียวกันของปี 2563 มีผู้ป่วยจำนวน 108,833 ราย เสียชีวิต 3 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคท้องร่วง ในปี 2562 มีจำนวน 743,934 ราย เสียชีวิต 5 ราย ในปี 2563 มีจำนวน 569,664 ราย เสียชีวิต 2 ราย จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ามาตรการป้องกันตนเองสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคทั้ง 2 กลุ่ม กระทรวงสาธารณสุขจึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี และลดอัตราการป่วยจากโรคดังกล่าว
จากมาตรการป้องกันตนเองที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิด 19 จนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติแล้ว ยังสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไว้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ว่า “การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหะสถานนั้น เป็นหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ในการลดความเสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจ โดยยังต้องรักษาสุขอนามัยร่วมกับการล้างมือให้ถูกวิธี และการรักษาระยะห่างจากผู้อื่นให้เป็นปกติสม่ำเสมอ” ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศนำมาตรการนี้ไปบังคับใช้กับประชากรในประเทศให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิดในชุมชน
ด้านสถานการณ์ โรคติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก วันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 เวลา 10.00 น.ยอดผู้ติดเชื้อรวม 29,440,998 ราย อาการรุนแรง 60,786 ราย รักษาหายแล้ว 21,275,547 ราย เสียชีวิต 932,730 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกาทจำนวน 6,749,289 ราย
2. อินเดีย จำนวน 4,926,914 ราย
3. บราซิล จำนวน 4,349,544 ราย
4. รัสเซีย จำนวน 1,068,320 ราย
5. เปรู จำนวน 733,860 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 126 จำนวน 3,480 ราย