xs
xsm
sm
md
lg

พบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 2 เป็น นศ.ไทยกลับจากอินเดีย อีกรายเป็นชาวกาตาร์เข้ามารักษามะเร็งตับ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. เผย สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย เป็นนักศึกษาไทยกลับจากอินเดียเข้าพักในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ อีกรายเป็นชายชาวกาตาร์วัย 71 เข้ามารักษามะเร็งตับ ถูกตรวจพบเชื้อ ผู้ป่วยรักษาหายได้กลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย

วันนี้ (24 ส.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักใน State Quarantine เป็นนักศึกษาชายไทยวัย 35 เดินทางมาจากอินเดีย อีกรายเป็นชายวัย 71 สัญชาติกาตาร์ อาชีพรับจ้าง เข้ามารักษามะเร็งตับในไทย ส่วนในประเทศยังคงไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,397 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จำนวน 460 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,222 ราย ส่วนผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 117 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

ประวัติผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ อินเดีย 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 35 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. (เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 20 ราย) เข้าพัก State Quarantine ในกรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 3 ในวันที่ 21 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ให้ประวัติเคยมีอาการ (อยู่ระหว่างสอบสวน)

กาตาร์ 1 ราย เป็นชาย สัญชาติกาตาร์ อายุ 71 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 22 ส.ค. เข้า Alternative Hospital Quarantine (AQH) ที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 22 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ผู้ป่วยมีเดินทางเข้ามารักษาโรคมะเร็งตับต่อเนื่อง โดยเดินทางมาพร้อมกับลูกชาย ผลการตรวจก่อนเดินทางไม่พบเชื้อทั้ง 2 ราย (อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม)


นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย ซึ่ง 1 รายเป็นผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางมารักษาต่อเนื่อง กักตัวอยู่ใน Alternative hospital Quarantine ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยยังดีต่อเนื่อง ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเกือบ 3 เดือน แต่การระบาดในต่างประเทศยังคงรุนแรงหลายประเทศ โดยประเทศอินเดียผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด วานนี้ (23 สิงหาคม 2563) พบ 61,749 ราย รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกาวันละ 32,718 รายแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ อันดับ 3-5 อยู่ในโซนอเมริกาใต้ คือ บราซิล 23,085 ราย เปรู 9,090 ราย โคลัมเบีย 8,044 ราย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยต่อวันไม่มากแต่อัตราป่วยสูงเนื่องจากมีประชากรน้อย

สำหรับประเทศอังกฤษและสวีเดน ซึ่งมีนโยบายผ่อนปรนเรื่องการปิดประเทศ ให้ใช้ชีวิตตามปกติ เศรษฐกิจเดินต่อได้ จำนวนและอัตราป่วยลดลงตามลำดับแม้จะไม่ได้ล็อกดาวน์แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าการล็อกดาวน์จะช่วยหยุดการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่หากไม่ต้องการล็อกดาวน์ ประชาชนจะต้องร่วมมือกันป้องกันการติดเชื้อทั้งปัจเจกบุคคล สถานประกอบการ ร้านค้า สถานที่ทำงาน ซึ่งจะช่วยชะลอการระบาดได้เป็นอย่างดี สำหรับในอาเซียน อัตราป่วยสะสมสูงสุดคือสิงคโปร์ แต่แนวโน้มค่อนข้างดี ส่วนฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว ส่วนเวียดนามพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกระลอกหนึ่ง และเริ่มชะลอตัวแล้ว

นายแพทย์ธนรักษ์กล่าวต่อว่า ในเดือนกันยายนจะมีวันหยุดยาว 4 วัน มีคำแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวให้ปลอดภัย โดยสถานประกอบการ/ผู้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขอให้ศึกษาข้อมูลสถานการณ์โรคจากกระทรวงสาธารณสุขและศบค. คัดกรอง วัดไข้ผู้รับบริการ หากพนักงานมีไข้ ไอ เจ็บคอให้หยุดพัก จัดให้มีการบันทึกประวัติการเข้าออกสถานที่ กำหนดให้ผู้รับบริการและพนักงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า กำหนดจำนวนผู้รับบริการ 10 ตรม./คน รักษาระยะห่าง 2 เมตร จัดระบบคิว ลดแออัด ที่สำคัญคือการล้างมือควรจัดหาอ่างล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ เพิ่มความถี่การทำความสะอาด จัดระบบระบายอากาศให้อากาศถ่ายเท ซึ่งพบว่าสถานที่ปิด ห้องปรับอากาศ มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าสวนสาธารณะ 19 เท่า ส่วนนักท่องเที่ยวนนักท่องเที่ยวขอให้เลือกบริษัทนำเที่ยว รถนำเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าที่มีมาตรการป้องกันโรคได้มาตรฐาน โดยตรวจสอบได้จากร้านค้า หรือบริการที่มีสัญลักษณ์ SHA ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว วัดไข้และสังเกตสุขภาพตนเองทุกวัน หากมีไข้ 37.5 องศาขึ้นไปงดเที่ยวและหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด บันทึกประวัติการเข้าออกด้วยแอปพลิเคชัน หมอชนะ หรือไทยชนะ สวมหน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงนำมือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงในการท่องเที่ยว เช่น จองสถานที่ล่วงหน้า

สำหรับการจัดการในสถานการณ์ขณะนี้ สิ่งสำคัญคือการจัดการความเสี่ยงทั้งของตนเอง สถานที่ทำงาน สถานที่ที่เดินทางไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสถานที่กักตัวทั้งสถานที่รัฐจัดให้ สถานกักตัวทางเลือก แยกผู้เดินทางจากต่างประเทศจากประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ดูแลจัดการสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น การประกอบศาสนกิจขนาดใหญ่ โรงเรียน และควบคุมดูแลพิเศษในโรงพยาบาล

“ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีสติ เศรษฐกิจและชีวิตจะเดินต่อไปได้ ถ้าพวกเราร่วมมือร่วมใจกัน กินของไทย ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันควบคุมโรค” นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น