xs
xsm
sm
md
lg

เรียนปริญญาโทไม่เพียงตอบโจทย์ด้านคุณวุฒิ แต่ยังสร้างความทรงจำให้มีสีสันเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังเรียนจบปริญญาตรี หลายคนก็คงเริ่มมองหางานที่ตรงใจเพื่อสร้างอนาคต หารายได้ หลายคนต้องใช้แรงกระตุ้นจากเงื่อนไขของการทำงาน เพื่อต่อยอดความรู้ด้วยการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แน่นอนว่าไม่เพียงเรื่องคุณวุฒิที่เราจะได้รับ ความรู้ความถนัดเฉพาะด้าน หรือแม้แต่คอนเนคชั่นจากการเรียนก็ตาม   นอกจากสิ่งเหล่านี้ เราก็ยังจะได้สัมผัสกับอารมณ์ของการเป็นนักศึกษาด้วยอีกครั้ง วงจรของการเรียน การพรีเซนต์งาน การเตรียมส่ง Assignment และอีกมากมายก็จะกลับมาอยู่ในความทรงจำของเราอีกครั้ง นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสีสันที่แตกต่างไปจากสมัยเรียนประถม มัธยม ปริญญาตรี เช่นเดียวกับนางสาวศรัญญา พานิจจะ (การ์ตูน) ศิษย์เก่าสาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อวิชาชีพ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เธอบอกว่า การได้ไปเข้าคลาสเรียนนับเป็นความสุข ได้ไปเจอเพื่อนร่วมคลาส เจออาจารย์ ทำให้วันหยุดมีสีสันขึ้นมามากๆ


“ตอนนี้ตูนทำงานเป็นนักบินผู้ช่วยมาประมาณ 5 ปี อยู่ที่บริษัทไทยไลอ้อนแอร์ ถือใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก หรือ Airplane Transport Pilot License Aero plane ค่ะ ที่เลือกทำงานนี้เพราะว่าเราเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อมีความรักในเครื่องบิน คุณพ่อเป็นทหารอากาศก่อน แล้วมาเป็นช่างอากาศยานที่ บ.การบินไทย คุณพ่อรักในอาชีพ รักในเครื่องบินมาก ตอนเด็ก ๆคุณพ่อก็พาเข้าไปสัมผัส พาไปนั่งเครื่องบิน เห็นนักบินเท่ห์ๆ มันทำให้เรามีความสุขทุกครั้งเหมือนคุณพ่อ จึงทำให้เรามีแรงบันดาลใจ และต้องการจะสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณพ่อในการเป็นนักบินให้ได้ ก่อนหน้านี้ตูนก็ทำงานในแวดวงการบินมาบ้างค่ะ หลังเรียนจบ ปวส.สาขาช่างเครื่องวัดประกอบการบิน จากสถาบันการบินพลเรือนฯ แล้วได้งานที่ การบินไทย เป็นช่างซ่อมอากาศยาน ในปี 2005 และในระหว่างที่ทำงาน ก็เรียนต่อเนื่องในสาขา Aircraft Electronic ระดับ ปริญญาตรี ของสถาบันการบินพลเรือนฯ หลังจากนั้นก็ทำงานเรื่อย ๆ จนถึงปี 2013 การบินไทยมีโครงการให้ลาโดยไม่รับเงินเดือนได้ เลยตัดสินใจไปเรียน Commercial Pilot License – Aeroplane โดยใช้เวลาเรียนอยู่ 1 ปี พอเรียนเสร็จแล้วก็กลับมาทำงานที่การบินไทยเหมือนเดิม ระหว่างนั้นก็สมัครงานในตำแหน่งนักบิน จนได้เข้าทำงานกับ โอเรียนท์ไทยเป็นที่แรก แล้วจึงย้ายมาที่ บริษัทไทยไลอ้อนแอร์ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตูนก็มองว่าเราเป็นนักบิน ความเชี่ยวชาญด้านภาษาจำเป็นมากๆ และที่บ้านก็อยากให้เรียนในวุฒิที่สูงขึ้นด้วยจึงตัดสินใจว่าจะเรียนต่อปริญญาโทด้านภาษา แล้วน้องสาวตูนเองก็จบด้านภาษาที่ ม.รังสิต เราเห็นศักยภาพของน้อง เราก็มั่นใจไม่ได้เลือกที่อื่น เลือกเรียนที่รังสิตเลยค่ะ”


หน้าที่ของนักบินผู้ช่วย

จากการทำงานเป็นนักบินผู้ช่วยมาพักใหญ่ ตูนใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737/300-900 เก็บชั่วโมงบินประมาณ 2500 ชั่วโมง ภาระหน้าที่ของเราคือนำผู้โดยสารไปส่งยังที่หมายปลายทาง สิ่งสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารซึ่งเราจะต้องคิดถึงวิธีการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างทำการบินด้วย หน้าที่ของนักบินผู้ช่วยและกัปตันจะถูกแบ่งออกอย่างชัดเจนในแต่ละเที่ยวบิน ถ้ากัปตันต้องรับผิดชอบการควบคุมอากาศยานในเที่ยวบินนี้ซึ่งจะเรียกว่า Pilot Flying นักบินผู้ช่วยก็จะรับหน้าที่การติดต่อวิทยุสื่อสารกับหอบังคับการบิน และเป็นผู้สังเกตการณ์ระบบต่าง ๆ ของเครื่องบิน คอยทำหน้าที่เป็น Back Up ให้กัปตัน และสนับสนุนด้านอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า Pilot Monitoring ในทางกลับกัน หากกัปตันมอบหมายให้นักบินผู้ช่วยทำการบินในเที่ยวบินนั้น ก็จะต้องควบคุมเครื่องบิน นำเครื่องบิน Take Off และ Landing กัปตันก็จะสลับไปทำหน้าที่การติดต่อวิทยุสื่อสาร คอยสอดส่องว่าสิ่งที่นักบินผู้ช่วยทำถูกต้องหรือไม่ และคอยให้การสนับสนุน ยกเว้นเสียแต่ว่ากัปตันเห็นว่าอาจจะต้องแก้ไข กัปตันก็จะนำเครื่องบินเข้ามาควบคุมเองได้ทุกเมื่อ เพราะสุดท้ายแล้วกัปตันคือผู้ที่รับผิดชอบทุกอย่างของเที่ยวบิน หากมีสิ่งใดผิดพลาด กัปตันต้องรับผิดชอบตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งสรุปได้ว่านักบินทั้งสองคน ทั้งกัปตันละนักบินผู้ช่วย สามารถทำงานสลับกันได้ และสามารถขับเครื่องบินได้ทั้งคู่ ส่วนถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ หรือต้องมีการตัดสินใจ การตัดสินใจของกัปตันจะถือเป็นที่สุด


ประยุกต์เข้าด้วยกัน

เราอาจจะชินกับการทำงานและมีวันหยุดตามที่ตารางเวรจะกำหนดออกมา แต่เมื่อเราจำเป็นต้องลงเรียนด้วยนั้น การบริหารจัดการเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“ตอบตรงๆ อาจจะมีเหนื่อยบ้าง แต่ไม่ยากค่ะ ส่วนตัวใช้วิธีการจัดลำดับความสำคัญเพราะด้วยข้อจำกัดด้านเวลาทำงาน เวลาเรียนเรานิ่งอยู่แล้ว ยากคือเวลาทำการบ้าน ทำ Present ยึด Deadline ของแต่ละสิ่งเป็นหลักแล้วเราก็จัดการตามลำดับไป ส่วนตัวอยากบอกหลายๆ คนค่ะ หากคุณกังวลเรื่องการเรียนการ Present จะเป็นภาระของการจัดการเวลา อย่างคำที่ว่า การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นประโยคคลาสลิคที่ใช้ได้จริง เราสามารถนำเรื่องเรียนเรื่อง Assignment ต่างๆ มาประยุกต์กับงานได้ มันจะไปด้วยกัน ส่วนมากการเรียนปริญญาโทก็จะเป็นหัวข้อเปิดกว้างอยู่แล้ว Discussion กัน ทำ Thesis หัวข้อที่ล้อกับงานที่ทำอยู่ เพราะผลลัพธ์ของการศึกษาจะมีประโยชน์ต่องานของตัวเราด้วย อย่างตูนแน่นอนการทำงานต้องใช้ภาษาอังกฤษ เลยเรียกว่าได้ประยุกต์ทุกทักษะกับการทำงานเลยค่ะ   ตอนทำงานต้องมีการ  Brief ให้ลูกเรือฟังต่อหน้ากัปตันต่างชาติ   อันนี้ได้เรื่องทักษะการพูด และมีการอ่านเอกสารภาษาอังกฤษ  ก็ได้ทักษะการอ่าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเขียนโต้ตอบอีเมล์และเอกสารต่างๆ เรียกได้ว่าประยุกต์ทั้งเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ และยังได้ดูแลบริหารจัดการเรื่องเวลาให้เหมาะสมด้วยตนเองด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น