“ปิยบุตร” อาศัยเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย “ตีปลาหน้าไซ” รัฐบาลใช้ ม.116 เป็นเครื่องมือจัดการแกนนำม็อบ ก่อนการชุมนุมใหญ่ “19 ก.ย.” ด้าน “หมอวรงค์” ท้าทาย “ทอน” อย่าดีแต่ปลุกระดม ออกมาถือธงนำเองเลย “กล้าหรือไม่?”
น่าสนใจเป็นอย่ายิ่ง วันนี้ (8 ก.ย. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ คณะก้าวหน้า โพสต์หัวข้อ [ คนที่ถูกจับไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.116 กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ]
โดยระบุว่า “หลังการยึดอำนาจปี 2557 คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มขึ้นเยอะมากกว่า 20 คดี จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และล่าสุด นักศึกษาเยาวชนที่ออกมาเรียกร้อง 3 ข้อ โดน ม.116 กัน จนกลายเป็นว่า ใครแสดงความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาชุดนี้ผิด ม.116 หมดเลย
คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมเจ้าหน้าที่ถึงเลือกใช้ ม.116 ก็เพราะโทษสูงถึง 7 ปี และอยู่ในหมวดความมั่นคง ในทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่ต้องออกหมายเรียก สามารถออกหมายจับได้ทันที จับแล้วเอาไปส่งศาลให้ศาลควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน การขอประกันตัวยิ่งยากขึ้น เพราะถือเป็นเรื่องความมั่นคง หลักทรัพย์ค้ำประกันก็สูงมาก
นอกจากนี้ เมื่อได้ประกันแล้วจะมีเงื่อนไข ในสมัย คสช. เลวร้ายกว่านี้อีก คือ คดี ม.116 ของพลเรือนถูกนำตัวไปขึ้นศาลทหาร และนำมาข่มขู่ให้ประชาชนกลัว ว่า ถ้าไม่อยากโดน ม.116 ให้อยู่บ้านเฉยๆ
วิธีการของเจ้าหน้าที่ คือ เปิดลิ้นชักดูว่ามีกฎหมายอะไรในมือบ้างที่จะทำให้ประชาชนไม่ต้องแสดงออก จึงเกิดการใช้ข้อหาตั้งแต่ความสะอาด ใช้เครื่องขยายเสียงเกิน กีดขวางการจราจร ติดโปสเตอร์ผิดที่ แต่คดีเหล่านี้โทษหยุมหยิม เมื่อต้องการหาข้อหาที่โทษหนักๆ หวยจึงมาออกที่ ม.116
“หน้าที่ของพนักงานสอบสวนคือใช้กฎหมายใช้ดุลพินิจโดยชอบ มิใช่ทำตามที่นายสั่ง หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ ใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านได้รับเงินเดือนอยู่ คือ ภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของเจ้านายท่าน”
วันนี้เช่นกัน เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี โพสต์ข้อความระบุว่า
“เกมที่ม็อบวางแผนเพื่อปลุกระดม มันช่างแปลกๆ ขนาดศาลให้ประกันตัวสองแสนบาท โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ พูดแบบชาวบ้าน คือ ไม่ต้องใช้อะไรเลย แทบจะปล่อยตัวทันที พวกเขาก็อยากจะเข้าคุกอย่างเดียว
เมื่อเข้าคุก คนที่อยู่นอกคุก ก็มาปั่นกระแสให้หยุดคุกคาม สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส มาทำอีเวนต์ทุบศาลพระภูมิ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของศาล ทั้งๆ ที่คนพวกนี้ อยากเข้าไปนอนในคุกเอง
ดูเกมเขาแล้ว ให้ความรู้สึกว่า ไม่รู้จะเล่นเกมอะไรแล้ว ไม่แคร์เลยแม้ประชาชนเขาก็มองเกมออก โชคดีที่ตำรวจขอศาลปล่อยตัว ดังนั้น วันที่ 19 กันยายน บอกลูกบอกหลานยิ่งต้องระวัง เพราะเขาคงทำได้ทุกอย่าง
ต้องติดตามว่า นายธนาธร จะกล้าออกมานำเองหรือยัง หลังจากใช้ลูกหลานประชาชนมาเสียนาน????
#ธนาธรจะกล้าไหมหรือไม่”
ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เคยโพสต์ (4 ก.ย. 63 เวลา 00:43 น.) หัวข้อ [สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส]
เนื้อหาระบุว่า “บทสนทนาหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในค่ำคืนอันมืดมิด แต่สว่างไสวด้วยไฟแห่งความโกรธเกรี้ยวและความหวังอันลุกโชนของประชาชน
คำถาม : อยากบอกอะไรกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของประเทศในตอนนี้?
ธนาธร:
“แม้แต่ข้อเรียกร้องที่ง่ายที่สุดที่ขอให้หยุดคุกคามประชาชน พวกเขายังไม่หยุด คิดกันจริงๆ หรือว่าเขาจะยอมให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน?
อนาคตของประเทศไทย อนาคตของพวกเราทุกคนอยู่ในมือพวกคุณ
ถ้าเราไม่ลุกขึ้นสู้ในวันนี้ ถ้าไม่ออกมายืนยันปกป้องเสรีภาพของพวกเราเองตั้งแต่วันนี้
วันพรุ่งนี้เราจะไม่เหลืออะไร
คนรุ่นคุณจะเติบโตมาอยู่ในกรงที่ไร้ซึ่งเสรีภาพ
นี่คือห้วงเวลาที่น่าตื่นเต้น
นี่คือจุดเริ่มต้นแห่งยุคสมัย
ธงนำในการต่อสู้วันนี้ไม่ได้อยู่ในสภา
ฝากอนาคตของประเทศไทยไว้ที่มือพวกคุณด้วย
สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส”
แน่นอน, ประเด็นของ “ปิยบุตร” พยายามจะปลุกกระแสการรับรู้ของสังคม ด้วยการชี้เป้าไปที่ ม.116 ว่า เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ทั้งในอดีตที่มี “คสช.” เข้ามา และปัจจุบัน รวมถึงอนาคตอันใกล้(19 ก.ย. 63) ในการสยบการเคลื่อนไหวของประชาชน หรือ “คุกคามประชาชน” อย่างที่พูดกัน และการหยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ก็เพื่อที่จะบอกไปถึงรัฐบาลว่ารู้ทันเกม ขณะเดียวกัน ก็ปั่นกระแสความไม่พอใจให้ฝ่ายตัวเอง ที่มีต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้นด้วย นี่คือ เกมการต่อสู้ที่ “ปิยบุตร” มักใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับม็อบมาตลอด
ขณะที่ ประเด็นของ “หมอวรงค์” ก็คือ การรู้เท่าทันเกมของ ฝ่าย “ธนาธร” ที่เดินเกมให้ อานนท์ นำภา กับ ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำม็อบ ติดคุก ก่อนที่ตัวเองจะใช้เป็นเงื่อนไขปลุกกระแสความไม่พอใจ ให้มวลชนหลั่งไหลเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.ที่จะถึง เพราะคาดการกันเอาไว้เรือนแสน ต่อหน้าผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ อันจะเป็นการฟ้องโลกตามไปด้วย
ทว่า ฝ่ายรัฐบาล ก็รู้เท่าทันเกมเหมือนกัน จึงชิงปล่อยตัว เพื่อลดเงื่อนไข การปลุกระดม และบิดเบือนจนกลายเป็นเรื่องใหญ่...
จึงเห็นได้ชัดว่า การชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.ของ ม็อบนิสิต นักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งเป้าเอาไว้สูงแค่ไหน ส่วนจะหวังผลได้หรือไม่ แค่ไหน ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และหวังว่า จะไม่มีเหตุการณ์อย่างที่หลายคนเป็นห่วง ว่า จะมีการสร้างสถานการณ์ให้สุกงอม เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดกับคนไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยตัวเล็กตัวน้อย บทเรียนมีให้เห็นอยู่แล้ว หรือไม่กลัว!?