อาคารร้างที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในตัวเมืองทั้งในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด คือหนึ่งในผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตัวอย่างที่สามารถชี้ให้เห็นได้ชัดเจน เช่น การโยกย้ายสาขาธนาคารต่างๆ จากอาคารพาณิชย์ริมถนนในแหล่งการค้าก็ขยับเข้าไปอยู่รวมกันในห้างสรรพสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งาน ร้านอาหารชื่อดังริมถนนที่เคยเป็นจุดนัดพบของคนรุ่นก่อนกลับกลายมาเป็นร้านอาหารที่ตกยุคไม่สามารถตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งการที่ไม่มีที่จอดรถให้บริการอย่างเพียงพอ และการที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยอย่างรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินนอกจากรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไปจากอาคารริมถนนสู่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แล้วการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในยุคดิจิทัล (Digital Disruption) ยังเร่งผลักดันให้ธุรกิจแบบเดิมได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งตามสถิติการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2562 นั้นพบว่ามีการเติบโตถึง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนและมีมูลค่ารวมกว่า 3.8 ล้านล้านบาท การเติบโตอย่างต่อเนื่องของระบบซื้อขายออนไลน์ได้ทำให้ร้านค้าและธุรกิจตามอาคารพาณิชย์ริมถนนในย่านการค้าต่างๆ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในรูปแบบเดิม หลายรายต้องปิดตัวลง หรือถ้ายังอยู่ในทำเลที่ดีก็อาจจะพอปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของอาคารไปทำธุรกิจอย่างอื่นได้บ้าง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยิ่งถูกผลักดันให้เกิดเร็วขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สูงขึ้นไปอีกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ที่ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ ต้องปิดตัวชั่วคราวเป็นเวลานับเดือน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ผู้บริโภคทั้งหมดจำเป็นต้องปรับตัวไปซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สถานการณ์โควิดได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อหาสินค้าของคนไทยไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังเร่งให้ธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ ตามห้องแถวต้องล้มหายตายจากกันไปอีกมาก ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าถึงแม้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคนี้จะจบลง แต่พฤติกรรมของคนอาจจะคุ้นชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์และไม่กลับไปสู่ช่องทางการซื้อขายแบบเดิม
จากการสำรวจพื้นที่กทม.ทั้ง50 เขต พบว่าอาคารที่หยุดการก่อสร้างหรือทิ้งร้างทั้งหมด 509 อาคาร นอกเหนือจากตัวเลขนี้แล้วยังมีอาคารพาณิชย์ที่ถูกทิ้งร้างอีกจำนวนมากซึ่งยังไม่ได้อยู่ในข้อมูลผลการสำรวจนี้อาคารร้างเหล่านี้นอกจากเป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาอาคารร้างยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม และสภาพอาคารที่เก่าถูกทิ้งร้างและขาดการบำรุงรักษายังทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบ ไม่น่าดู ไม่น่าอยู่อาศัย ของพื้นที่และชุมชนในบริเวณนั้น ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ภาครัฐจึงควรมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนการใช้งานตึกและอาคารเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์และตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมให้ดียิ่งขึ้น ทางเลือกที่น่าสนใจคือการปรับวัตถุประสงค์ของตึกอาคารเหล่านี้เพื่อใช้เป็นบ้านพักคนชรา ที่จะสามารถรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลประชากรของสำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครองรายงานว่า ในปี 2556 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยมีจำนวนถึง8,734,101 คน คิดเป็น 12.8% ของประชากรประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น 10,666,803 คน คิดเป็นสัดส่วน 15% ของประชากรของประเทศในปี 2562 การเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุนั้น มาจากสาเหตุหลัก 2 ประการได้แก่
1.อัตราการเกิดที่น้อยลง โดยข้อมูลอัตราเจริญพันธุ์รวมกล่าวว่า จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของสตรีตลอดวัยเจริญพันธุ์ลดลงเป็นลำดับ จาก 4.9 คนต่อสตรี 1 คนในปี 2517 เหลือเพียง 1.6 คนในปี 2556 และมีแนวโน้มจะลดเหลือ 1.3 คนในปี 2576
2.อัตราการตายที่ลดลง คนไทยอายุยืนขึ้น คาดการณ์ได้จากอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดที่เพิ่มขึ้น จากอายุคาดเฉลี่ยของเพศชายที่ 55 ปี เพศหญิง 62 ปีในปี 2517 เพิ่มสูงขึ้นเป็นอายุคาดเฉลี่ยของเพศชายที่ 72 ปี เพศหญิง 79 ปีในปี 2556 และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 76 และ 83 ปีตามลำดับในอีกสิบปีข้างหน้า
เมื่ออัตราประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนคนหนุ่มสาวที่ลดลง และด้วยสถิติการมีลูกเพียง 1-2 คนต่อครอบครัวทำให้ประชากรผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยตัวคนเดียวมีมากขึ้น เพราะลูกหลานต้องทำงานมากขึ้นและมีเวลาในการดูแลผู้สูงอายุลดลงเพื่อรองรับแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนี้ การที่ภาครัฐเข้ามาดำเนินการหรือสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้ามาดำเนินการปรับเปลี่ยนอาคารร้างในตัวเมืองเหล่านี้ให้เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือบ้านพักคนชรา ในรูปแบบต่างๆจะเป็นการใช้สอยพื้นที่รกร้างเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของสังคม พื้นที่ตั้งของอาคารส่วนใหญ่ที่อยู่ใจกลางเมืองจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางของลูกหลานเมื่อต้องการมาเยี่ยมหรือใช้เวลาร่วมกับผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุเหล่านี้จะได้ใกล้ชิดกับลูกหลานมากขึ้น ทดแทนการพักอยู่ในบ้านพักคนชรานอกตัวเมืองที่เดินทางเข้าถึงลำบาก ห่างไกลผู้คน รูปแบบของบ้านพักเหล่านี้อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ
1.การดูแลระหว่างวัน สำหรับผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เน้นการบริบาลคนชราในชีวิตประจำวันทั้งด้านการแพทย์ การพักผ่อน และการเข้าสังคมกับผู้สูงอายุรายอื่น
2.การพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์ในระยะยาว เป็นกรณีสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
ทั้งสองรูปแบบยังคงข้อดีของการปรับรูปแบบอาคารในเมืองคือลูกหลานสามารถไปมาหาสู่ได้อย่างสะดวก ลดอุปสรรคในการเดินทาง และขยายโอกาสการเข้าถึงการบริการที่มีประสิทธิภาพของประชากรผู้สูงอายุทั้งนี้ความต้องการในสังคมไทยจะทำให้ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุใน 20ปีต่อจากนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นตามสถิติที่กล่าวไว้ข้างต้น
การปรับจุดประสงค์การใช้งานของอาคารรกร้างจำนวนมากในพื้นที่ตัวเมืองของทั้งกรุงเทพและหัวเมืองต่างจังหวัดเพื่อใช้เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือบ้านพักคนชรานั้นนอกจากจะช่วยลดอัตราอาชญากรรมจากพื้นที่อาคารร้างแล้ว แนวคิดนี้ยังช่วยสนับสนุนการใช้ประโยชน์ของอาคารพาณิชย์และส่งเสริมธุรกิจภายในพื้นที่นั้นๆ และที่สำคัญยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของคนในครอบครัวจากการเดินทางที่สะดวกขึ้นทำให้ลูกหลานสามารถไปส่งก่อนเข้าทำงานและรับกลับเข้าบ้านหลังเลิกงานได้และยังสามารถเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ประจำที่บ้านพักคนชราได้โดยง่าย ซึ่งจะเป็นการเกื้อหนุนและรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ของไทย แนวคิดนี้ยังเป็นเหมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวคือทั้งเป็นการแก้ปัญหาตึกร้างในตัวเมืองเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไปและการสร้างธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ของเมืองเพื่อรองรับกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศ
ผู้เขียน : ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มาของข้อมูล :
https://positioningmag.com/1211887
https://www.prachachat.net/property/news-509891
http://www.dop.go.th/download/knowledge/knowledge_th_20160106135752_1.pdf