xs
xsm
sm
md
lg

ผุดนวัตกรรม AI ผลิตหนังสือเสียง เพิ่มโอกาสผู้พิการทางสายตา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. ประสานความร่วมมือ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และ มูลนิธิธรรมิกชนฯ เซ็น MOU ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ผลิตหนังสือเสียง 1 หมื่นเล่ม ตั้งเป้าสร้างโอกาสเพื่อผู้พิการทางสายตาให้เท่าเทียม พร้อมก้าวสู่การจ้างงานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องบอกว่านับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ประกาศลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานสำคัญ ทั้งมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัทวัลแคน โคอะลิชั่น โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรซ์ ในการเดินหน้าสร้าง AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อผลิตหนังสือเสียงจำนวน 1 หมื่นเล่ม เพื่อเพิ่มและสร้างโอกาสให้แก่ผู้พิการทางสายตา โดยพิธีลงนามดังกล่าว ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่27 สิงหาคม 2563  ที่ผ่านมา พร้อมงานแถลงข่าว “ถอดรหัสศักยภาพคนพิการทางการมองเห็นสู่…โอกาสการจ้างงาน”

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ปรากฏในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการร้อยละ 3.08% ของประชากรทั้งหมด หรือราวๆ 2 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีคนพิการที่เรียนจบชั้นอุดมศึกษาร้อยละ 1.04% และเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นคนพิการด้านการมองเห็น แต่สิ่งที่น่าห่วงใยก็คือบัณฑิตที่เป็นผู้พิการทางการมองเห็นมักได้รับการจ้างงานน้อยกว่าผู้พิการประเภทอื่นๆ

“ภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความจริงข้อนี้ ว่า คนพิการทางสายตา กว่าจะเรียนหนังสือจนกระทั่งจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา พวกเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคและใช้ความมุ่งมั่นพยายามในระดับที่สูงมาก แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยากไม่น้อยไปกว่าการเรียนหนังสือให้จบ ก็คือ การเข้าไปทำงานหลังจากเรียนจบ ดังนั้นแล้วโจทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ ทำอย่างไร จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงการจ้างงานได้มากยิ่งขึ้น

ภรณี   ภู่ประเสริฐ
“ตลอดระยะเวลา6 ปีที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนโครงการสำรวจลักษณะงาน ทักษะที่จำเป็นในการทำงานและการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลต่อผู้พิการทางการเห็นโดยมีวัตถุประสงค์สำรวจอาชีพและทักษะที่เหมาะกับคนพิการทางการเห็นในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ ยุค AI ซึ่งทักษะที่จำเป็น ได้แก่ 1. ทักษะที่ต้องใช้ความรู้ (Hard Skill) เช่น การใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ทักษะภาษาต่างประเทศ 2. ทักษะทางสังคม (Soft Skill) เช่น ยอมรับตนเองในระดับดีมาก มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ดี และ 3. ทักษะสนับสนุน (Support skill) เช่น ปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ดีเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้รวดเร็ว”

ภรณี ภู่ประเสริฐ กล่าวย้ำว่า ทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับน้องๆ ผู้พิการทางสายตาที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนและพัฒนา เพื่อว่าพวกเขาจะได้สามารถเข้าไปอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสถานประกอบการ ในสังคมได้อย่างมีความสุข “ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของสถานประกอบการก็ต้องเตรียมความพร้อมเช่นเดียวกันสถานประกอบการจำเป็นจะต้องปรับทัศนคติของคนในองค์กร คนพิการทางสายตามักจะพูดว่า การเรียนไม่ยากเท่ากับการต้องฝ่าฟันวิธีคิดและทัศนคติของคนทั่วไปที่จะตั้งคำถามว่า
ทำได้เหรอ แล้วแบบนี้จะทำได้ดีเท่าคนอื่นหรือเปล่า การที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าตัวเองมีความสามารถมากพอ ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้พิการทางสายตา สถานประกอบการเองก็ต้องปรับทัศนคติรวมทั้งระบบต่างๆ ที่จะเอื้อให้คนพิการทางสายตาสามารถเข้าไปทำงานได้”

และในวันนี้ สิ่งดีๆ อีกสิ่งเพื่อผู้พิการทางสายตาก็กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อ สสส. ได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการผลิตหนังสือเสียง 10,000 เล่ม ระหว่าง มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรซ์

“การทำ MOU 10,000 เล่ม คิดว่าเป็นโอกาสแรกของประเทศไทยที่จะมาสามารถทำให้ผลิตหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตาในปริมาณมากๆ ซึ่งตอนนี้สิ่งที่เราคาดหวังก็คือเรื่องความร่วมมือจากบริษัทเจ้าของหนังสือและเจ้าของลิขสิทธิ์ ว่า เขาจะช่วยเอื้อเฟื้อและเห็นประโยชน์ ว่า คนพิการทางสายตาเขาสามารถจะได้เสพสื่อแบบเดียวกับคนทั่วไป หนังสือมันมีหลายประเภททั้งหนังสือเรียน หนังสือวิชาการ หนังสือทางด้านบันเทิงเอง ผู้พิการทางสายตาก็ต้องการสิ่งเดียวกันนั้นเช่นกัน หรือแม้กระทั่งการ์ตูน นวนิยาย ที่เด็กวัยรุ่นทั่วไปสนใจ เราคิดว่า น้องๆ ผู้พิการทางสายตาก็อยากจะรู้จักทำความเข้าใจมันเหมือนกัน อยากได้รับประสบการณ์เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป เพราะฉะนั้นลิขสิทธิ์หนังสือดีๆ ดังๆ เหล่านี้ ก็คิดว่า เขาน่าจะเปิดโอกาสให้มาทำหนังสือเสียงด้วย”

อภิชาติ   การุณกรสกุล
ด้าน “อภิชาติ การุณกรสกุล” ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งดูแลในส่วนของโครงการจ้างงานกระแสหลักInclusive
workplace หรือIW เพื่อส่งเสริมการจ้างงานบัณฑิตและเยาวชนที่พิการ ให้ข้อมูลว่า บทบาทหลักของโครงการ IW คือ การทำหน้าที่ออกแบบ พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน ให้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานจริง โดยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ 1. สร้างและพัฒนากระบวนการประสานงานและส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน 2. ส่งเสริมความพร้อมในการทำงานกับบัณฑิตพิการ
3. ส่งเสริมให้นักศึกษาพิการได้ฝึกงาน 4. สนับสนุนทุนอาชีพแก่ครอบครัวเยาวชนพิการให้เข้าถึงการศึกษา ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2556

“ในช่วง6 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทมากมายให้การสนับสนุนการจ้างงาน จนปัจจุบันนี้มีกว่า 500 บริษัท และภาคีร่วมทำงานกันหลาย 10 ภาคี มีหน่วยงานพื้นที่เกือบ 2,000 แห่ง ทำงานร่วมกัน ทำให้คนพิการมีโอกาสไปทำงานที่เป็นประโยชน์ ทั้งด้านการพัฒนาชุมชมในภูมิลำเนาของตัวเอง ได้มีรายได้ มีงานทำ จนถึงวันนี้มีคนพิการประมาณปีละ 7,000 คน ได้เข้าถึงโอกาสงานและอาชีพอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีอีก14,000 - 15,000 อัตราของบริษัทที่ยังไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้ครบ ซึ่งเราก็จะขับเคลื่อนเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนพิการต่อไป”

ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ เวลานี้ สิ่งหนึ่งซึ่งมูลนิธิพยายามขับเคลื่อนร่วมกันกับหลายหน่วยงาน เพื่อโอกาสสำหรับผู้พิการทางสายตา คือ เรื่องของหนังสือเสียง เพราะเมื่อพูดถึงผู้พิการทางการมองเห็น ความเหลื่อมล้ำขนาดใหญ่ คือการไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่อยู่ในรูปของตัวหนังสือได้ เพราะมองไม่เห็น หนังสือเสียงในประเทศไทยก็มีไม่มากนัก อย่างหนังสือเสียงที่อยู่ในหอสมุดเบญญาลัยซึ่งเป็นหอสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีอยู่เพียงหลักพันเล่มต้นๆ เท่านั้น

“แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็คือ ทาง Valcan Coalition (บริษัทบริษัทวัลแคน โคอะลิชั่น โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรซ์) ซึ่งเป็นกิจการที่ทำเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Technology จะนำปัญญาประดิษฐ์มาอ่านหนังสือแล้วแปลงเป็นเสียงแทน จากแต่เดิมที่เราต้องใช้เวลากว่า 80 ชั่วโมงในการที่จะได้หนังสือเสียงออกมาหนึ่งเล่ม ถ้าทำหนึ่งหมื่นเล่ม ก็ต้องใช้เวลานานกว่า 8 แสนชั่วโมง แต่ถ้าเราสามารถใช้ AI มาทำหนังสือเสียงได้แล้ว จะใช้เวลาเล่มละ 5 นาทีเท่านั้นในการแปลง เพราะฉะนั้น หากมีขีดความสามารถแบบนี้ก็จะสามารถผลิตสื่อเพื่อให้ผู้พิการทางการมองเห็น เข้าถึงได้ไม่จำกัด การเข้าถึงความรู้จะไม่เป็นความเหลื่อมล้ำอีกต่อไป”


ขณะที่ “เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ” ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัทวัลแคน โคอะลิชั่น โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรซ์
กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือAI ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะเป็น AI ที่อ่านออกเสียงได้ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด โดยAI ตัวนี้ทำด้วยศักยภาพของผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางสายตาสร้าง AI  เพื่ออ่านหนังสือเสียงให้กับผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ
ได้เข้าถึงสื่อการเรียน ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้โมเดลนี้เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ  และเป็นนวัตกรรมแรกของโลก

“ขณะนี้ Valcan Coalition ของเรากำลังพัฒนา AI โมเดล เพื่ออ่านหนังสือเสียง แต่การที่เราจะพัฒนาAI โมเดลนี้ให้สามารถอ่านได้เสียงใกล้เคียงกับมนุษย์และมีความถูกต้อง เราต้องการกลุ่มคนพิการเพื่อมาสอน AI ให้เขาอ่านออกเขียนได้  ซึ่งตอนนี้เราก็เลือกคนมา 100 คนแล้วได้รับการเชื่อมต่อผ่านมูลนิธินวัตกรรม ให้บริษัทมาสนับสนุนโควตาการจ้างงานตามมาตรา 35 เราก็จ้างคนผู้พิการทางการมองเห็นกลุ่มนี้นี่เองมาเป็นคน Input ข้อมูล

“เราคาดหวังว่า ภายในปีหน้า น่าจะได้เห็นเวอร์ชั่นแรกของตัว AI โมเดลที่ใช้อ่านหนังสือเสียงได้ แต่อาจจะเป็นAI โมเดลที่อาจจะยังออกเสียงได้ไม่ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุดนัก หรืออาจจะยังอ่านหนังสือนวนิยายไม่สนุกนัก แต่สำหรับหนังสือเชิงวิชาการ
หนังสือที่เกี่ยวกับการเรียนนั้นอ่านได้ใกล้เคียงที่สุดแล้ว นี่คือเฟสแรก ก้าวแรกของเรา”

“เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ” บอกเล่าถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น  พร้อมทั้งกล่าวว่า หลังจากผลิตหนังสือเสียงเรียบร้อยแล้ว จะมีการมอบให้กับห้องสมุดเบญญาลัย ซึ่งเป็นห้องสมุดสำหรับการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตาเป็นลำดับต่อไป

“นอกจากนี้ เรายังมีความยินดีให้ห้องสมุดเบญญาลัยใช้ประโยชน์จาก AI โมเดล ของเรา คืออาจจะไม่ได้ใช้ในการอ่านหนังสือเสียงก็ได้  แต่อาจจะใช้ในการพัฒนาโปรแกรมอ่านหน้าจอ เพื่อให้ผู้พิการทางมองเห็นใช้งานได้ เราก็ยินดีมอบ AI โมเดลนี้ให้ห้องสมุดเบญญาลัยให้เขาได้ใช้ประโยชน์ต่อไป”

ธรรม  จตุนาม
สำหรับโครงการห้องสมุดเบญญาลัย “ธรรม  จตุนาม” รองประธานกรรมการ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวสรุปสั้นๆ ว่า โครงการห้องสมุดเบญญาลัย มีเป้าหมายให้ผู้พิการทางการมองเห็น  มีงานทำในยุค AI  โดยต้องส่งเสริมด้านการศึกษา อาชีพ ฟื้นฟูสมรรถภาพเต็มที่  ผ่านระบบห้องสมุดออนไลน์ แพลตฟอร์มนี้สามารถใช้ได้ทุกคนในการเพิ่มทักษะด้านต่างๆ เพื่อสะท้อนความเสมอภาคในสังคม เพราะความรู้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก  ย่อมสามารถสร้างความเท่าเทียมกันในสิทธิของมนุษย์

ด้วยเหตุนี้ การประกาศลงนามความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ ระหว่างหน่วยงานดังที่เอ่ยชื่อมาข้างต้น ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้พิการทางการมองเห็น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของสังคมที่มุ่งลดความเหลื่อล้ำ เสริมสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมไปด้วยในขณะเดียวกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น